จากวิถีคนโบราณสู่การอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างมีส่วนร่วม
เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลหายากและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งวางไข่ถูกรบกวน การตายจากการติดเครื่องมือประมง หรือกินขยะในทะเล รวมทั้งอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างน้อย วงจรชีวิตของเต่ามะเฟืองตามธรรมชาติ จะเริ่มต้นจากแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายหาดของจังหวัดพังงา เช่น ชายหาดบริเวณวัดท่าไทร ชายหาดอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง และชายหาดคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จึงอาจเรียกได้ว่าจังหวัดพังงา เป็นบ้านเกิดและถิ่นกำเนิดของเต่ามะเฟืองเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ เพราะจังหวัดพังงามีแนวชายหาดของทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้มีระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลนานาชนิด
ในสมัยก่อนชาวบ้านในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และบริเวณหาดใกล้เคียง มีวิถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเต่าทะเล ที่เรียกว่า “การเดินเต่า” โดยมีการตามหาเก็บไข่เต่าและนำไปเพาะเลี้ยง จนไข่ฟัก จากนั้นจึงนำลูกเต่าที่ได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ประเพณีการเดินเต่ามักจะทำกันในตอนกลางคืน เริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง ในช่วงฤดูวางไข่ที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ในช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี อาจมีความคลาดเคลื่อนก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวบ้างเล็กน้อย ซึ่งคนสมัยก่อนจะมีเคล็ดลับในการหาไข่เต่าหลายวิธี วิธีแรก “ดูดาวเต่า” เพื่อจะได้ทราบช่วงเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ โดยดาวเต่า ประกอบด้วย ดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า คนโบราณเชื่อว่า เมื่อดาวเต่าหัวลงทะเล (หันหัวลงทางทิศตะวันตก หรือ ดาวเต่าเริ่มคล้อยลง คล้ายกับดวงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป) จะเป็นเวลาที่เดินเต่าได้ เนื่องจากเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้ วิธีที่ 2 “ดูน้ำ” โดยดูการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล หากน้ำขึ้นครึ่งฝั่งหรือน้ำลงครึ่งฝั่ง จะเป็นช่วงเวลาที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แต่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวันข้างขึ้นหรือข้างแรมด้วย โดยชาวบ้านในท้องถิ่นสามารถพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ได้จากรอยคลานของเต่าที่ปรากฏอยู่บนหาดทราย ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะเต่าทะเลจะใช้เท้าทั้ง 2 คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก เป็นทาง 2 ทาง คือ ทางขึ้นและทางลง แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นค่อนข้างยาก เพราะหาดทรายมีบริเวณกว้างมาก แต่ชาวบ้านในสมัยก่อนมีความรู้และวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่า มี 2 วิธี คือ 1) การสังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปรอบลำตัว ขณะที่ขุดหลุมวางไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม และ 2) การใช้ไม้ปลายแหลมแทง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สัก” ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ 2 ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย สัมผัสโดนไข่แล้วจะกระเด้ง และอาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา และวิธีที่ 3 “ดูแมลงวัน” ให้ดูตอนกลางวันว่ามีแมลงวันไปตอมบริเวณใด เพราะแมลงวันจะไปตอมหลุมวางไข่ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ จากวิถีชีวิตและประเพณีการหาไข่เต่าของคนสมัยก่อน นำมาสู่แนวทางการปฏิบัติของคนสมัยใหม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์เต่าทะเลได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้สำรวจและสังเกตการณ์เต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาด โดยการ “สักหาไข่เต่า” เพื่อตรวจสอบตำแหน่งหลุมวางไข่ เมื่อพบไข่แล้วจะย้ายไข่เต่าไปเพาะฟักในบริเวณพื้นที่ที่มีความสะดวกและง่ายต่อการดูแล เพื่อให้ไข่เต่าได้มีโอกาสฟักตัวตามธรรมชาติมากที่สุด
จากวิถีของชาวบ้านที่ร่วมกันสืบทอดประเพณี “การเดินเต่า” ที่มีการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาด ทำให้เกิดอีกหนึ่งกิจกรรมในท้องถิ่นที่ทำสืบต่อกันมาจนกลายเป็น “งานประเพณีปล่อยเต่า” ซึ่งจัดขึ้นบริเวณชายหาดอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นประจำทุกปี ในช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม หลังฤดูวางไข่ของเต่าทะเล เพื่ออนุรักษ์ลูกเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้มีโอกาสขยายพันธุ์ตามธรรมชาติต่อไป อีกทั้ง กิจกรรมเหล่านี้ยังสร้างความตระหนักให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล โดยหากพบแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ไม่นำไข่เต่าไปบริโภค หรือขาย เพื่อให้ไข่เต่ามีโอกาสฟักออกมาเป็นลูกเต่าได้อย่างปลอดภัย และส่งผลให้เต่าทะเลในประเทศไทยมีอัตราการรอดชีวิตและเจริญพันธุ์ได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย
บทความโดย นางสาวอภิญญา เพ็งนาค เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
เอกสารอ้างอิง
1. “แม่เต่ามะเฟือง” ขึ้นมาวางไข่รังที่ 3 ของฤดูกาล บนหาดท้ายเหมือง จ.พังงา.” Fm91bkk.com, 2023, www.fm91bkk.com/newsarticle/22118. Accessed 23 July 2024.
2. Face. “ผู้ว่าฯพังงา ปล่อยลูกเต่ามะเฟืองลงทะเล.” INN News, 2 Mar. 2024, www.innnews.co.th/news/local/news_684335/. Accessed 3 July 2024.
3. NGThai. “เต่ามะเฟือง : บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์.” National Geographic Thailand, 28 Feb. 2019, ngthai.com/wildlife/18808/leatherback-turtle/. Accessed 23 July 2024.
4. “ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม _ หน้าแรก.” M-Culture.in.th, 2024, m-culture.in.th/album/view/121813/. Accessed 23 July 2024.