ครั้งแรกกับชันโรง
การเดินป่าครั้งแรกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้เปิดประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้ในกรุงเทพมหานคร การเดินเท้าในระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้ได้พบกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่เราไม่มีโอกาสได้สัมผัสในชีวิตประจำวันของสังคมเมือง นี่อาจเป็นเสน่ห์ของการเดินป่าที่หลายคนหลงใหลและรอคอยช่วงเวลาวันหยุดเพื่อที่จะได้มาทำกิจกรรมนี้การได้เข้าไปท่องเที่ยวในธรรมชาติ นอกจากจะได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์แล้ว เรายังจะได้พบสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยรู้จักและอาจได้กระตุกต่อมการเรียนรู้ของเราขึ้น เช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า
ในครั้งนี้ ที่ได้ยินชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเป็นครั้งแรกจากอาจารย์ผู้ซึ่งนําเราในการเดินป่าครั้งนี้ และทำให้ข้าพเจ้าฉงนสงสัยว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้คืออะไร โดยพร้อมจะหาคําตอบหลังจากการเดินป่าเสร็จสิ้น และเจ้าสิ่งมีชีวิตนั้นมีชื่อว่า “ชันโรง”
ชันโรง อ่านว่า ชัน-นะ-โรง เป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กใน พบได้ในทุกภูมิภาคของไทย มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรของพืชมาใช้เป็นอาหารเช่นเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กไนจึงไม่สามารถต่อยศัตรูได้ ชันโรงจึงมีฟันกรามที่แข็งแรงใช้กัดศัตรูเพื่อต่อสู้ป้องกันรังแทนโดยจะอยู่อาศัยตามรอยแยก รอยแตกของชั้นหิน ต้นไม้ โพรงไม้ ซึ่งจะมีการสร้าง
ปากทางเข้ารังด้วยไขผสมยางไม้และกรวดหรือดิน และมีชันโรงงานคอยเฝ้าป้องกันศัตรูเข้ารังชันโรงเป็นแมลงสังคมคืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีการแบ่งกลุ่มที่เรียกกันว่า “วรรณะ”
ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกันไป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. นางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว ตัวจะใหญ่กว่าตัวอื่น มีหน้าที่วางไข่ในถ้วยตัวอ่อนที่ชันโรงงานสร้างไว้ให้ และควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในรัง นางพญาจะมีอายุอยู่ได้ 3-4 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น 2. ชันโรงงาน เป็นกลุ่มของชันโรงที่มีมากที่สุดในรัง และส่วนใหญ่มักเป็นตัวเมีย ทำหน้าที่ตั้งแต่ทำความสะอาดและซ่อมแซมรัง สร้างถ้วยตัวอ่อนไว้ให้นางพญาวางไข่ สร้างถ้วยอาหารไว้เก็บน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ ให้อาหารและคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ป้องกันรัง และออกหาอาหาร ชันโรงงานจะมีอายุอยู่ได้ถึง 60-90 วัน และ 3. ชันโรงตัวผู้ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญา จะมีอายุอยู่ได้แค่ 20 วัน ชันโรงเป็นแมลงชั้นยอดในการช่วยผสมเกสรให้กับพืชไม่ว่าจะเป็นพืชตามธรรมชาติหรือพืชเศรษฐกิจ เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย มะม่วง รวมถึงพืชผักทางการเกษตร ช่วยทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และสร้างความหลากหลายทางธรรมชาติ การใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ของชันโรง ได้แก่ น้ำผึ้งชันโรง (Honey) และชัน (Propolis) ซึ่งชันจะมีคุณสมบัติทางยาช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้
ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ชันโรงสำหรับจำหน่าย เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจในการเพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างดีการจำหน่ายมีทั้งการขายเป็นรังแม่พันธุ์สำหรับนําไปเพาะพันธุ์ต่อ การนําน้ำผึ้งชันโรงที่เก็บได้บรรจุใส่ขวดเพื่อจำหน่าย โดยอาจต้องมีการสั่งจองเนื่องจากปัจจุบันการผลิตน้ำผึ้งชันโรงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ด้วยคุณสมบัติของน้ำผึ้งชันโรงที่สรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สมานแผล มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง และด้วยรสชาติเฉพาะที่มีลักษณะเปรี้ยวอมหวาน จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้า
สายรักสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการนําผลิตภัณฑ์จากชันโรงไปแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เช่น การนำชัน ไปผลิตเป็น สบู่ ยาหม่อง ยาดม ยาพ่นในปาก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ถือว่าชันโรงเป็นแมลงที่แม้ตัวเล็ก แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้อย่างมากมายทั้งการเกษตรความหลากหลายทางชีวภาพ และทางการค้า
ในโลกใบนี้ยังคงมีสิ่งใหม่มากมายรอให้เราไปค้นหา โดยเฉพาะในธรรมชาติที่ซ้อนเร้นความสวยงามที่ทรงคุณค่าไว้ เหมือนอย่างข้าพเจ้าที่ได้พบกับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่มีประโยชน์มากมายซ่อนไว้อยู่ในป่าใหญ่ แม้หลายคนอาจเคยได้รู้จักเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้แล้วแต่ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสได้รู้จักหากไม่ได้มาเดินป่าในครั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่อาจทำให้เราได้พบบางสิ่งซึ่งอาจเป็นครั้งแรกในชีวิตของเรา ไม่ว่าอายุของเราจะมากเท่าไรก็ตาม
บทความโดย นางสาวกรรณิกา กันพุดซา เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KM for Journey to be the writers