รายงานแห่งชาติฉบับที่ 2 การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดอยู่ในกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 ไม่มีพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกแต่ต้องจัดทำรายงานแห่งชาติ ซึ่งต้องมีข้อมูลบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย รายงานแห่งชาตินี้นำเสนอต่อสำนักเลขาอนุสัญญาสหประชาติภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ประเทศไทยได้จัดทำรายงานแห่งชาติครั้งแรก ส่งเมื่อปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานแห่งชาติครั้งที่ 2
การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำรายงานแห่งชาติครั้งที่ 2 ใช้วิธีการคำนวณ ตามคำแนะนำของสหประชาชาติคือ คำนวณตามคู่มือ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติปี 1996 ของ IPCC หรือ Revised 1996 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) นอกจากนี้ยังได้ใช้ 2000 Good Practice Guidance and Uncertainty Management (Good Practice Guidance) และ 2003 Good Practice Guidance for Land Use, Land-Use Change and Forestry เป็นแนวทางในการดำเนินการโดยเฉพาะการเลือกเทียร์ (เทียร์ (Tier)) ตาม Decision Tree
ในการคำนวณใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เป็นปีฐาน โดยการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 5 ภาคได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และป่าไม้ และภาคของเสีย คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิดตามที่กำหนดในรายงานของสหประชาชาติ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2), มีเทน (Methane: CH4), ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide: N2O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon: HFC), เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon: PFC) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur Hexafluoride: SF6) โดยรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ (National Total) ด้วยหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (เทียบค่าก๊าซทั้ง 6 ชนิด) ด้วยค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential)