3 มิถุนายน 2563 การรีไซเคิลทางเคมีพลาสติกชีวภาพ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/1859451
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่ผลิตจากโพลีแล็กติกแอซิด (Polylactic Acid) ซึ่งมาจากพืชอย่างอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง กลายเป็นสินค้าที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น ถ้วยที่ใช้แล้วทิ้ง วัสดุบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่ของเล่นเด็ก พลาสติกชนิดนี้เมื่อหมดการใช้งานก็จะทิ้งในหลุมฝังกลบเพื่อให้ย่อยสลายทางชีวภาพ แต่ก็มีความพยายามในการรีไซเคิลหรือจัดการแปรรูปขยะพลาสติกชีวภาพให้นำกลับมาใช้ใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม และมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ เผยว่า ได้คิดค้นวิธีรีไซเคิลทางเคมีของพลาสติกชีวภาพที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางเคมีโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาสังกะสีและเมทานอล มาใช้ในการสลายพลาสติกที่ผ่านการใช้งานจากผู้บริโภค และผลิตตัวทำละลายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Solvent) คือเมธิล แล็กเตต (methyl lactate)
ทีมได้ทดสอบกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ 3 ประเภท คือ ถ้วยที่ใช้แล้วทิ้ง, เครื่องพิมพ์ 3 มิติบางชนิด และของเล่นเด็ก ซึ่งผลที่ได้พบว่า ถ้วยถูกเปลี่ยนเป็นเมธิล แล็กเตตได้ง่ายที่สุดที่อุณหภูมิต่ำกว่า แต่พลาสติกขนาดใหญ่ในของเล่นเด็กก็เปลี่ยนได้ แต่ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น กระบวนการดังกล่าวทำให้นักวิจัยเชื่อว่าวิธีนี้จะมีศักยภาพอย่างต่อเนื่องในการช่วยลดปริมาณการทิ้งพลาสติกในหลุมฝังกลบหรือถูกนำไปเผา.