10 มีนาคม 2563 สารในเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจเปลี่ยนเป็นเพชร
ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/1790766
นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์เพชรจากวัตถุอื่นมานานกว่า 60 ปี โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงต้องใช้พลังงานจำนวนมาก อีกทั้งการเพิ่มตัวเร่งปฏิกิริยาที่มักจะเป็นโลหะก็ค่อนข้างจะลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้าย ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นระบบที่สะอาด และใช้สารเพียงตัวเดียวที่จะเปลี่ยนเป็นเพชรบริสุทธิ์ โดยไม่ต้องอาศัยตัวเร่งปฏิกิริยาเข้ามาช่วย
เมื่อเร็วๆ นี้มีการวิจัยใหม่ของนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และหน่วยงานวิจัยร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (SLAC National Accelerator Laboratory) แสดงให้เห็นว่า การปรับความร้อน และแรงดันอย่างระมัดระวังสูตรนั้น จะสามารถผลิตเพชรได้จากโมเลกุลไฮโดรเจน และคาร์บอนชนิดหนึ่งที่พบในเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะสร้างเพชรได้รวดเร็ว และง่ายดายแล้ว ยังต่อยอดการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการที่สมบูรณ์ และรอบคอบมากขึ้น ในการเลียนแบบแรงดันสูงและอุณหภูมิสูงภายในโลกที่เพชรจะก่อตัวตามธรรมชาติ
นักธรณีวิทยาเผยว่า การทำความเข้าใจกลไกการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะสำคัญต่องานด้านเครื่องประดับแล้ว คุณสมบัติทางกายภาพของเพชร ไม่ว่าจะเป็นความแข็งที่สุด โปร่งแสง มีเสถียรทางเคมี และนำความร้อนสูง เพชรนับว่าเป็นวัตถุที่มีค่าต่อการแพทย์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีการคำนวณควอนตัม และการตรวจวัดทางชีวภาพ