การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพี้นที่ “ลุ่มน้ำยม” อย่างเป็นระบบ

น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่ไม่สามารถผลิตเพิ่มหรือลดปริมาณที่มีอยู่ในธรรมชาติได้เองตามต้องการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอุปโภคและบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยว การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการคมนาคมขนส่งเป็นต้นในปี พ.ศ. 2563/2564 ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรม รวม 3,589.25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.91 เมื่อความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะฝนแล้ง จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำทั้งในเมืองและชนบทในหลายพื้นที่ แต่มีอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝนตกนอกพื้นที่รับน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อการใช้งานในฤดูแล้ง

ลุ่มน้ำยม เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำ โดยลุ่มน้ำยม เป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น 24,046.86 ตารางกิโลเมตร หรือ 15.03 ล้านไร่ ครอบคลุม 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา น่าน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำนี้มีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตและกิจกรรมการผลิตในภาคกลาง ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำยม วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ทิศเหนือเริ่มจากทิวเขาผีปันน้ำติดกับลุ่มน้ำโขง ทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปิง ทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำปิง ทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำน่าน โดยมีแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำ ซึ่งบริเวณตอนบนมีความสูงชันมาก และค่อยๆ ลดลงในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลุ่มน้ำยมตอนล่างบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ความกว้างของแม่น้ำยมค่อนข้างแคบ ทำให้รองรับปริมาณน้ำบริเวณจังหวัดสุโขทัยได้น้อย เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเอ่อท่วมพื้นที่ 2 ข้างลำน้ำ ทั้งนี้ สภาพปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมาอย่างต่อเนื่อง คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูแล้งและมีน้ำหลากท่วมช่วงฤดูฝน ซึ่งภัยแล้งเกิดขึ้นครอบคลุมเกือบทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ เนื่องจากความไม่สมดุลของปริมาณน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งขาดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ และระบบกระจายน้ำที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และไม่มีน้ำเพียงพอในการจัดสรรในฤดูแล้ง รวมถึงระดับน้ำใต้ดินลดลง เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเติมลงใต้ดิน สำหรับปัญหาอุทกภัยเกิดจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เนื่องจากความกว้างลำน้ำตอนบนกว้าง ส่วนตอนล่างแคบ และไม่มีอ่างเก็บน้ำในลำน้ำเพื่อตัดยอดน้ำ ดังนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมของลุ่มน้ำยมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำ ทำให้การจัดการมวลน้ำที่ไหลจากจังหวัดแพร่ ต้องทำโดยใช้วิธีการผันน้ำไปที่แม่น้ำน่าน ลำน้ำสาขา และทุ่งรับน้ำที่อยู่ใกล้เคียง แม้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังคงเกิดปริมาณน้ำสะสมไหลเข้าท่วมจุดเปราะบาง เช่น ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร และฤดูแล้งเกิดน้ำแล้งตลอดแนวแม่น้ำ ตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และลุ่มน้ำน่าน โดยพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากการประสบปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งเป็นประจำ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา แพร่ และลำปาง และพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และพิจิตร นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำยมยังประสบปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อทำการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยว และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดการชะล้างพังทะลายของหน้าดินในพื้นที่ลาดชันและริมตลิ่ง รวมถึงเกิดการตกตะกอนในแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำยมที่เกิดปัญหาดินโคลนถล่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง มีความลาดชัน และสภาพป่าเสื่อมโทรม รวมถึงปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำ ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้สารเคมี อาทิ ปุ๋ยเคมี สารเคมีในการกำจัดแมลงและวัชพืชในการเกษตร และชะล้างลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภคตามมา

ลุ่มน้ำยม ยังคงประสบปัญหาข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและจริงจังแบบยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่เคยพระราชทาน “ศาสตร์พระราชา” ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซากแบบยั่งยืน ว่า“…ต้องมีการดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำสาขาของแม่น้ำยม การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง เพื่อกักเก็บน้ำและระบายน้ำในช่วงหน้าน้ำหลาก…” ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด และได้กำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อเป็นกรอบแนวทาง การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานที่มีภารกิจและหน้าที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ร่วมบูรณาการข้อมูลและประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ทั้งลุ่มน้ำ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำรวม 800 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาแก้มลิงชะลอน้ำ 833 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงปี 2561-2563 ดำเนินงานไปแล้ว 697 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จังหวัดพะเยา แก้มลิงวังทองแดง จังหวัดสุโขทัย การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทุ่งบางระกำ และโครงการบางระกำโมเดล จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น และในช่วงปี 2564-2566 จะดำเนินโครงการหลักเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญบนลุ่มน้ำยม 36 โครงการ เพิ่มความจุของน้ำ 116 ล้าน ลบ.ม. ชะลอน้ำได้ 833 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1.67 แสนไร่ 26,949 ครัวเรือน โดยดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและตอนกลางที่เก็บกักน้ำได้เพิ่มอีก 234 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถลดปริมาณน้ำส่วนเกินก่อนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และแก้ไขปัญหาท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ ชะลอน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำทุกรูปแบบ โดยเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดเครือข่ายจัดการลุ่มน้ำที่สมบูรณ์ โดยมีแผนดำเนินการ 3 ส่วน คือ (1.1) ลุ่มน้ำยมตอนบน ระยะเร่งด่วนปี 2564 ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและติดตั้งระบบเตือนภัย ระยะสั้นปี 2565-2566 พัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและเล็ก รวมถึงแหล่งน้ำตามแนวคิด “สะเอียบโมเดล” (1.2) ลุ่มน้ำยมตอนกลาง ระยะเร่งด่วนปี 2564 จัดการจราจรน้ำและปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน ระยะสั้นปี 2565-2570 พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา และเพิ่มความจุแหล่งน้ำเดิม ระยะยาวหลังปี 2570 พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลำน้ำยม ซึ่งต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และ (1.3) ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ระยะเร่งด่วน ปี 2564 พัฒนาอาคารบังคับน้ำ 10 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 11 แห่ง รวมทั้งระบบผันน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ เช่น โครงการคลองผันน้ำยม-น่าน ระยะกลางเริ่มดำเนินการปี 2566 พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จังหวัดนครสวรรค์
  2.  ปรับแผนการเพาะปลูกพืชนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยวางแผนการส่งน้ำการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น จากเดิมเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนกรกฎาคม รวมทั้งไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติเพื่อรองรับน้ำ ชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมพื้นที่หน่วงน้ำบางระกำ หรือ “โครงการบางระกำโมเดล 60”
  3.  การปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย โดยใช้แนวทางการตัดยอดน้ำบางส่วนออกจากลำน้ำสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยปรับปรุงคลองหกบาท พร้อมกับขุดลอกคลองชักน้ำ ให้สามารถรับน้ำได้เพิ่มขึ้น จากเดิมระบายน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สามารถระบายน้ำได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยลดลง จากเดิม 800 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 550 ลบ.ม.ต่อวินาที (เท่ากับความสามารถที่แม่น้ำยมรับได้ในช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย) ทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เมืองสุโขทัย และพื้นที่การเกษตร อีกทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ในคลองเพื่อใช้อุปโภคบริโภคในฤดูแล้งได้อีกด้วย
  4.  การติดตามสถานการณ์น้ำของจังหวัด ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน โดยวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศและภูมิศาสตร์สารสนเทศประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง คาดการณ์สถานการณ์การเกิดภัยพิบัติและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในสภาวะวิกฤต (อุทกภัยและภัยแล้ง) ล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดแบบมีส่วนร่วม
  5.  การกำหนดพื้นที่ เพื่อวางแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยและภาวะน้ำแล้ง ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและน้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ระดับปานกลางและเสี่ยงภัยแล้งมากในพื้นที่เกษตรน้ำฝน
ที่มาของภาพ: https://wiangtong.go.th/wp-content/uploads/2016/02/DSC0074.jpg

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และชุมชนในลุ่มน้ำ ควรบูรณาการร่วมกันทบทวนและปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในทุกมิติอย่างยั่งยืน เพื่อให้รู้ถึงคุณค่าทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างพอประมาณและทั่วถึง เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างยั่งยืน และไม่เกิดความขัดแย้งในสังคม โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม ในระยะต่อไป ควรดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังนี้ (1) ประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และผังน้ำของลุ่มน้ำ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลุ่มน้ำ โดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน (2) บริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยอาศัยกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ (3) ศึกษารูปแบบการเติมน้ำบาดาลในพื้นที่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำใต้ดิน (4) อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ (5) ศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกล้ำ จัดหาพื้นที่แหล่งน้ำของประชาชน และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน (6) เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดพื้นที่อุทกภัยและพื้นที่ชะลอน้ำ รวมทั้งการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (7) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงดิน ทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และ (8) รณรงค์ให้ประชาชน ๒ ฝั่งลำน้ำ บำบัดน้ำเสียก่อนทิ้ง คัดแยกขยะต้นทางและไม่ทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

จัดทำบทความโดย  นางสาวศิริวรรณ  ลาภทับทิมทอง  นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ
                         กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์  กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

เกษตรก้าวไกล. (2560). บูรณาการจัดการน้ำ “ลุ่มแม่น้ำยม” ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” สืบค้นเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ 2565. จากเว็บไซต์: https://www.kasetkaoklai.com/ home/2017/06/บูรณาการจัดการน้ำ-ลุ่ม/

กรมชลประทาน. รธว. นำสื่อมวลชนติดตามดูแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำยมสร้างความมั่นคงของน้ำอย่างเป็นระบบ. สืบค้นเมื่อวันที่  21 มีนาคม 2565. จากเว็บไซต์ :https://www.rid.go.th/main/index.php?option= com_ content&view=article&id=2076:2016-07-14-03-58-37&catid=23:2009-12-21-08-25-31&Itemid=54

กรมชลประทาน. ชป.แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง.สืบค้นเมื่อวันที่  22 มีนาคม 2565. จากเว็บไซต์ : http://www1.rid.go.th/index.php/th/2019-04-26-19-44-59/871-02-10-2564-1

ไทยรัฐ (2563). รื้อใหญ่แผนจัดการลุ่มแม่น้ำยม หยุดวิกฤติน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565. จากเว็บไซต์: http//www.thairath.co.th/news/local/north/1930524

ประชาชาติ (2565) . สทนช.จี้กรมชลประทานแก้แล้งลุ่มน้ำยม-ป่าสัก. สืบค้นเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ 2565. จากเว็บไซต์: http//www.prachachat.net/economy/news-856648

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547). การบริหารจัดการลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน. สืบค้นเมื่อวันที่  25 กุมภาพันธ์ 2565. จากเว็บไซต์: http//www.ryt9.com/s/ryt9/160536

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร.

องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงทอง. กั้นน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง.สืบค้นเมื่อวันที่  22 มีนาคม 2565. จากเว็บไซต์: https://wiangtong.go.th/wp-content/uploads/2016/02/DSC0074.jpg

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy
slot online situs slot gacor hari ini daftar istanaslot https://buletin303.com/ https://134.209.107.98:777/ https://188.166.233.138/

https://gangster4d.netlify.app/

gangster4d slot

gangster4d

Skip to content