ในวันที่ทะเลไม่เหมือนเดิม: ปรากฏการณ์ทะเลเดือด
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ คำว่า “ทะเลเดือด” กลายเป็นคำที่คุ้นหูของทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก็ตาม จากเดิมที่เป็นเพียงชื่ออาหารเผ็ดร้อนอย่างผัดฉ่าทะเลเดือด ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในท้องทะเลของเรา และกำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
Ocean Warming หรือชื่อเล่นภาษาไทยว่า “ทะเลเดือด” คือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติ จากการคาดการณ์ของรายงาน Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ฉบับที่ 5 อุณหภูมิของผิวน้ำทะเล (Sea Surface Temperature) จะสูงขึ้นถึง 1 – 4 องศาเซลเซียส ในปี 2100
อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 1-4 องศาเซลเซียสอาจฟังดูไม่มากมายนัก จนคำว่าทะเลเดือดดูจะเป็นคำที่เกินจริงไป ทว่าผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้นก็ทำให้สถานการณ์ของมหาสมุทรโลกในปัจจุบันหนักหนาใกล้เคียงกับ “ทะเลเดือด” ทีเดียว
ผลกระทบด้านกายภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ส่งผลให้ชุมชนชายฝั่งเสี่ยงต่อการสูญเสียที่อยู่ และพื้นที่ทำกิน รวมทั้งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลที่ผิดปกติยังส่งผลต่อวงรอบของปรากฏการณ์เอลนินโญ-ลานินญา และภาวะฝนชุก-ฝนแล้ง ที่ต่างไปจากเดิม ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหารต่อไป
นอกจากนี้ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “คลื่นความร้อนในทะเล” หรือ Marine Heat Waves ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกสภาวะที่อุณหภูมิของน้ำทะเลพุ่งขึ้นสูงกว่า 90% และกินระยะเวลานาน อาจเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ จากรายงาน IPCC ฉบับที่ 6 พบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา เกิดปรากฏการณ์นี้ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น
คลื่นความร้อนในทะเลส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวในหลายพื้นที่ โดยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวรุนแรงขึ้น จน National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA ได้ยกระดับการเฝ้าระวังขึ้นจากเดิมถึง 2 ระดับ (รูปที่ 1) ถึงแม้ว่าจะมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แนวปะการัง Great Barrier Reef ก็เกิดการฟอกขาวครั้งรุนแรงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากปะการังฟอกขาวแล้ว NOAA สันนิษฐานว่า คลื่นความร้อนในทะเลอาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติของสาหร่ายทะเลขนาดเล็ก และสารพิษที่ผลิตจากสาหร่ายทะเลจำนวนมากจะเป็นสาเหตุทำให้วาฬตายอย่างผิดปกติจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013
นับได้ว่าน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นมาไม่กี่องศาเซลเซียสส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในทะเล รวมทั้งมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสายใยอาหารนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
คำถามสำคัญในตอนนี้ คือ เราจะทำอะไรได้บ้างในวันที่ทะเลไม่เหมือนเดิม เมื่อ “ทะเลเดือด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลุ่มคำต่อท้ายชื่อผัดฉ่าอีกต่อไป
แน่นอนว่าทางรอดหลักของโลกในตอนนี้ คือ การมุ่งสู่เป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส ในขณะที่ทั่วโลกมุ่งไปสู่เป้าหมายระยะยาวนี้ ก็มีการศึกษาแนวทางการปรับตัวต่อวิกฤตทางทะเลในระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง .โดยมีผลการศึกษาแสดงถึงความเป็นไปได้อย่างมากมาย
นอกจากการลดการปลดปล่อยคาร์บอนด้วยการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานทดแทนแล้ว การเข้าแทรกแซงระบบนิเวศทางทะเลก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการปรับตัวเพื่อรับมือกับท้องทะเลที่เปลี่ยนไป ทั้งการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ (Key species) เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศ อนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ (Economically valuable species) เพื่อการันตีความมั่นคงทางอาหาร หรือการเฝ้าระวังและคุ้มครองระบบนิเวศที่เปราะบาง ทั้งแนวปะการัง ป่าชายเลน และแนวหญ้าทะเล ทำให้มีความพร้อมในการฟื้นฟูระบบนิเวศได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤต
ไม่เพียงเท่านี้ ในการประชุม Marine Geoengineering Symposium ณ University of Tasmania ได้มีข้อเสนอที่ท้าทายยิ่งกว่า โดยการศึกษาการควบคุมการปลดปล่อยรังสีของดวงอาทิตย์โดยตรงด้วยวิธีการเพิ่มสารตั้งต้นที่ก่อกำเนิดเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์
ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแนวทางการปรับตัวต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทร ในวันที่ทะเลเปลี่ยนไป สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นความร่วมมือทั้งหมดที่มีในการรักษาระบบนิเวศที่ยังมีอยู่และพร้อมรับมือกับสถานการณ์สุดขั้วทุกเวลา
บทความโดย นางสาวทัศนธร ภูมิยุทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)
เอกสารอ้างอิง
International Union for Conservation of Nature. (2017, November). Ocean warming. Retrieved from IUCN website: https://www.iucn.org/resources/issues-brief/ocean-warming
Mantell, S. (2024, May 22). In hot water: exploring marine heatwaves. Retrieved from NOAA Research website: https://research.noaa.gov/2024/05/22/in-hot-water-exploring-marine-heatwaves/
McGee, J., Brent, K., & Burns, W. (2017). Geoengineering the oceans: an emerging frontier in international climate change governance. Australian Journal of Maritime & Ocean Affairs, 10(1), 67–80. https://doi.org/10.1080/18366503.2017.1400899
Small, L. (2015, August 31). Unusual Whale Deaths Could be Linked to Warming Oceans | Article | EESI. Retrieved from www.eesi.org website: https://www.eesi.org/articles/view/unusual-whale-deaths-could-be-linked-to-warming-oceans
THIEM, H. (2024, February 8). NOAA Coral Reef Watch extends alert scale following extreme coral heat stress in 2023 | NOAA Climate.gov. Retrieved from www.climate.gov website: https://www.climate.gov/news-features/featured-images/noaa-coral-reef-watch-extends-alert-scale-following-extreme-coral
Trebilco, R., Fleming, A., Hobday, A. J., Melbourne-Thomas, J., Meyer, A., McDonald, J., … Pecl, G. T. (2021). Warming world, changing ocean: mitigation and adaptation to support resilient marine systems. Reviews in Fish Biology and Fisheries, 32. https://doi.org/10.1007/s11160-021-09678-4