ธนบัตรชนิดใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ธนบัตรเป็นเงินตราที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หลายท่านเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ธนบัตรมีที่มาอย่างไร และมีการพัฒนาการมาถึงธนบัตรฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร
- ที่มาของธนบัตร
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินตราที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าภายในประเทศได้แก่ หอยเบี้ย ประกับ (ดินเผาที่มีตราประทับ) เงินพดด้วง ปี้กระเบื้อง รวมถึงเหรียญกษาปณ์ จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโปรดให้จัดทำเงินกระดาษชนิดแรกขึ้นใช้ในระบบเงินตราของประเทศ เรียกว่า หมาย ซึ่งเป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ตัวอักษรและลวดลายด้วยหมึกสีดำ ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักร และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้วยสีแดงชาด ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทรศก 121 ขึ้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2445 และได้จัดตั้งกรมธนบัตร สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อทำหน้าที่ออกธนบัตรและเปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรได้ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2471 กำหนดให้เงินตราของประเทศประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนให้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย จึงมีการใช้ธนบัตรมาเป็นเงินตราอย่างสมบูรณ์จนถึงปัจจุบันนี้
- ธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
- ธนบัตรกระดาษ
ธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 50 100 500 และ 1,000 บาท ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบันจะผลิตด้วยกระดาษที่ทำจากใยฝ้ายจะมีคุณสมบัติทนทานเหนียวแกร่ง พร้อมทั้งมีการเคลือบผิวเพื่อให้ทนทาน เนื่องจากธนบัตรที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ซึ่งมีการหมุนเวียนอย่างแพร่หลายในระบบการจ่ายเงิน จึงมีสภาพเก่ามากกว่าธนบัตรชนิดอื่น ๆ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ศึกษาและพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยการเปลี่ยนวัสดุพิมพ์จากกระดาษเป็นวัสดุอื่นที่ทนทานมากขึ้น นั่นคือ การใช้พอลิเมอร์เป็นวัสดุพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แทนการใช้กระดาษ
- ธนบัตรพอลิเมอร์
ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีขนาด 7.20 x 13.80 เซนติเมตร ประกาศออกใช้ลงวันที่ 20 มกราคม 2565 และวันที่ออกใช้ 24 มีนาคม 2565 โดยธนบัตรที่ผลิตจากวัสดุพอลิเมอร์จะใช้วิธีการผลิตและขึ้นรูปด้วยวิธี Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP) ซึ่งเป็นการหลอมเม็ดพลาสติกชนิดพอลิพรอพีลีน ผ่านเครื่องหลอมอัดรีด แล้วทำการดึงยืดให้เป็นฟิล์มโดยการดึงฟิล์มใน 2 ทิศทาง คือ ดึงในด้านขนานกับทิศทางการไหลของพอลิเมอร์ออกจากเครื่องหลอมอัดรีด และดึงตั้งฉากกับทิศทางการไหลของพอลิเมอร์ที่ออกจากเครื่องหลอมอัดรีด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวฟิล์ม เช่น มีการยืดตัวต่ำความต้านทานแรงดึงสูงขึ้น มีความแข็งมากขึ้น มีคุณสมบัติทางแสงที่ดีขึ้น และทนทานต่อน้ำหรือก๊าซได้ดีขึ้น นับเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่สำคัญในการผลิตธนบัตรที่มีคุณภาพและความทนทานที่สูงขึ้น
- ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
- ลดการใช้กระดาษผลิตธนบัตร
เทคโนโลยีการผลิตธนบัตรได้พัฒนาเป็นอย่างมาก ในช่วงระยะเวลา 10 – 20 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุพอลิเมอร์ที่ใช้ในการผลิตธนบัตร ได้มีการปรับปรุงให้มีความทนทานต่อความชื้นและสิ่งสกปรกมากขึ้น รวมทั้งคุณภาพในการพิมพ์ธนบัตรโดยเครื่องจักร หมึกที่ใช้ในการพิมพ์ สารเคลือบผิวธนบัตร ก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนามากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากการศึกษาในประเทศต่าง ๆ พบว่า ธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานนานกว่าธนบัตรกระดาษ ประมาณ 2.5 เท่า ดังนั้น การนำธนบัตรพอลิเมอร์ออกใช้หมุนเวียนภายในประเทศ จึงช่วยยกระดับคุณภาพธนบัตร โดยที่ธนบัตรยังมีความใหม่ สะอาดยาวนานมากกว่าเดิม และช่วยลดการใช้กระดาษเพื่อผลิตธนบัตรให้น้อยลงด้วย
- ลดภาวะโลกร้อน
ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อเปรียบเทียบกับธนบัตรกระดาษ เนื่องจากสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากการผลิต การขนส่ง การกระจาย การทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน จากการศึกษาคาร์บอนฟุตพรินต์ของธนบัตรในต่างประเทศ เช่น แคนาดา และอังกฤษ พบว่า ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน รวมทั้งช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าธนบัตรกระดาษ ประมาณร้อยละ 15 และธนาคารจะเผาทำลายธนบัตรพอลิเมอร์ ภายใต้การควบคุมและบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล

บทความโดย นางสาววรรณาทิพย์ เติมมหาวงษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม KM for Journey to be the writers
บรรณานุกรม
ดร. ทัศชา ทรัพย์มีชัย. (17 กุมภาพันธ์ 2565). ธนบัตรพอลิเมอร์. https://petromat.org/home/bank-polymer/
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2565). ทำความรู้จักธนบัตรพอลิเมอร์ 20 บาท วัสดุใหม่เพื่อความยั่งยืน.
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-65-1/Special-Scoop-65-1.html
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). วิวัฒนาการเงินตราไทย. https://www.bot.or.th/th/our-roles/banknotes/History-and-Series-of-Banknote-And-Commemorative/banknote-evolution.html
เส้นทางเศรษฐี. (27 มีนาคม 2565). ไขข้อข้องใจ ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ ดีกว่าเดิมยังไง.
https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_208519