จากขยะสู่พลังงาน: การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเพื่ออนาคต
ในยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างหนักและปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยะที่เรามองข้าม กลับซ่อนศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และการนำเทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) มาใช้เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดก็เป็นทางออกที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองและสร้างพลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทยปี 2566 พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด 26.95 ล้านตัน หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน คิดเป็นอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเท่ากับ 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน เมื่อเทียบกับประชากรตามทะเบียนราษฎร์ โดยขยะเหล่านี้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์แค่เพียงร้อยละ 34.5 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือคิดเป็นเพียง 9.31 ล้านตัน เท่านั้น (กรมควบคุมมลพิษ, 2566)

เทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) คือ การนำขยะมูลฝอยจากครัวเรือน ชุมชน ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม กลับมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีเตาเผา (Incineration) เทคโนโลยีการผลิตก๊าซเชื้อเพลิง (Gasification) เทคโนโลยีการสลายด้วยความร้อน (Pyrolysis) เทคโนโลยีการย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจนหรือการหมัก (Anaerobic Digestion) เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากบ่อฝังกลบ (Landfill Gas to Energy) เทคโนโลยีไฮโดรเทอร์มัลชนิดเหลว (Hydrothermal Liquefaction) หรือเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derives Fuel: RDF) เพื่อให้ได้พลังงาน ที่อาจอยู่ในรูปพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ก๊าซชีวภาพ น้ำมัน รวมถึงเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ โดยชนิดของขยะที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการ สามารถแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ 1) ขยะที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษผักผลไม้ ซากพืช รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่สามารถนำไปหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 2) ขยะที่ใช้เวลานานในการย่อยสลายหรือไม่สามารถย่อยสลายได้แต่สามารถเผาไหม้ได้ เช่น ไม้ กระดาษ พลาสติก และยาง และสุดท้าย 3) ขยะอื่น ๆ เช่น ขยะที่ขุดจากบ่อฝังกลบ ตะกอนน้ำเสีย ฯลฯ ซึ่งสามารถนำกลับมาแปรรูปเป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยีอันเหมาะสม (ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว, 2566)
รูปที่ 2 เทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานและชนิดของขยะที่เปลี่ยนเป็นพลังงานได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ยังคงมีความท้าทาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเทคโนโลยีที่สูง ความซับซ้อนในการคัดแยกขยะ และการจัดการมลพิษที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตพลังงาน ดังนั้น การเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หากมีการสนับสนุนด้านนโยบายและการลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการขยะในลักษณะนี้จะสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการที่ทุกคนร่วมมือกันลดปริมาณขยะ สนับสนุนการรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อให้โลกของเราก้าวไปสู่อนาคตที่สดใสและยั่งยืนอย่างแท้จริง
บทความโดย นางสาวรุจรวี แสงเจริญ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการพัฒนาระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม บัญชีระบบนิเวศ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม (กตป.)