ปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน” เรื่องใกล้ตัวของคนเมือง

เมืองใหญ่ๆ ในหลายพื้นที่มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมทั้งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จากที่กล่าวมาเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการปล่อยของเสียและก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ในเมืองต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศและสภาพอากาศที่ร้อนกว่าพื้นที่ชานเมืองหรือชนบท หลายๆ คนที่อาศัยอยู่ในเมืองคงเคยสงสัยว่า ในช่วงเวลากลางคืน ทำไมบางคืน
มีสภาพอากาศที่ร้อนและอบอ้าวกว่าทุกวัน นั่นเป็นเพราะมวลความร้อนที่ถูกดูดซับและกักเก็บไว้ในช่วงเวลากลางวันได้แผ่กระจายออกมา แต่ถูกปิดกั้นจากอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่สูงและหนาแน่น จึงไม่สามารถแพร่กระจายสู่ท้องฟ้าหรือพื้นที่ภายนอกได้ ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” หรือ “ปรากฏการณ์โดมความร้อน” หรือ “เกาะความร้อนเมือง”
เป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในเมืองที่หนาแน่นมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณชานเมืองหรือชนบท โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะมีอุณหภูมิสูงกว่าตอนกลางวัน ซึ่งมวลความร้อนจะถูกกักเก็บและกดไว้ราวกับถูกฝาครอบ ปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงและความร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เกิดความเครียด ซึ่งมนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในระยะเวลายาวนานได้ แต่ความแปรผันในระยะสั้น อาจส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการตาย การเจ็บป่วย
และการเข้ารับรักษาพยาบาล นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการสูญเสียพลังงาน โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิจากภายในอาคารและที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

เมืองที่มีความหนาแน่น
ที่มา: https://www.posttoday.com/politics/528531

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ (1) การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในเมือง ทำให้มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้วัสดุ เช่น คอนกรีต ยางมะตอย และหิน เป็นต้น เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก วัสดุเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดซับและกักเก็บความร้อนสะสมจากการใช้พลังงานตามสถานที่ต่างๆ และจากแสงอาทิตย์ได้ดี เมื่อถึงเวลากลางคืนความร้อนที่ถูกสะสมจะแผ่ออกมา แต่อาคารสูงเหล่านั้นจะสกัดกั้นความร้อนจากพื้น ทำให้ความร้อนไม่สามารถแพร่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าที่เย็นกว่าได้  (2) ลักษณะรูปแบบการเคลื่อนที่ของลมในเมือง เนื่องจากพื้นที่ในเขตเมือง มีการใช้วัสดุพื้นผิวของอาคารที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และระดับความสูง ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การเคลื่อนที่และความเร็วของลมที่ไหลผ่านเมืองช้าลง รวมทั้งลดการกระจายความร้อนที่เกิดขึ้นภายในเมือง ซึ่งแตกต่างกับพื้นที่ชนบทที่มีลักษณะของอาคารที่มีความสูงไม่มากและความซับซ้อนน้อย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของลมและสามารถกระจาย
ความร้อนได้ดี (3) อัตราการระเหยของน้ำในพื้นที่เมืองต่ำกว่าพื้นที่ชนบท การระเหยของน้ำทำให้เกิดความเย็น และช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ในเมืองมีลักษณะพื้นผิวเป็น
ดาดแข็ง เช่น พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นคอนกรีต พื้นหิน เป็นต้น ระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ที่พื้นผิวได้ ดูดกลืนความร้อนเก็บไว้ และแผ่ความร้อนออกมา ทำให้พื้นที่นั้นเป็นแหล่งสะสมความร้อน ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ชนบทที่มีการใช้พืชพรรณในการปกคลุมผืนดิน ที่สามารถช่วยชะลอและเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ รวมทั้งมีการระเหยเป็นไอน้ำเพื่อช่วยระบาย
ความร้อนในบรรยากาศได้ดีกว่า และ (4) ความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เมื่อสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิและความร้อนสูงขึ้น ทำให้มนุษย์ต้องใช้พลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ส่งผลให้มีการระบายอากาศจากภายในอาคารสู่ด้านนอกเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิและความร้อนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นตามมา

การแก้ไขปัญหาปรากฏการณ์ “เกาะความร้อน” สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว โดยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ทั้งก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซค์ คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจก
ต่าง ๆ รวมถึงมลพิษในรูปแบบอื่นๆ เช่น การลดการใช้ความร้อนและพลังงานจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม กิจกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน แต่วิธีการที่เราสามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหานี้ได้ คือ (1) การเพิ่มสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวบริเวณพื้นที่โล่งหรือตามถนนในพื้นที่เมือง รวมทั้งการปลูกต้นไม้พุ่มเตี้ยรอบอาคารและดาดฟ้าอาคาร โดยการปลูกพืชหรือต้นไม้ที่เป็นปัจจัยหลักในการลดอุณหภูมิให้เย็นลงโดยการให้ร่มเงาและการระเหยของน้ำ ข้อดีของการปลูกพืชและต้นไม้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อน คือ ช่วยฟอกอากาศ ดูดซับแสงอาทิตย์ ลดความร้อนในเมือง ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น และลดการใช้พลังงาน (2) การปกคลุมหลังคาด้วยพืชพันธุ์ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “หลังคาเขียว” หรือ “หลังคามีชีวิต” เป็นการปลูกพืชบนหลังคา เพื่อให้ร่มเงาและระบายความร้อนจากอากาศที่ผ่านการระเหย
ของน้ำและช่วยลดอุณหภูมิของพื้นผิวหลังคาและอากาศโดยรอบ ประโยชน์หลักของหลังคาเขียว นอกจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนจากการลดการปลดปล่อย CO2 แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำความเย็นและความอุ่นได้ และพื้นโครงสร้างดาดฟ้าและระบบกันซึมของโครงสร้างอาคารมีอายุใช้งานนานขึ้น (3) การเพิ่มการสะท้อนออกของพื้นผิวอาคาร การใช้วัสดุสะท้อนความร้อนในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ลานและถนน เพื่อเพิ่มการสะท้อนรังสีโดยรวมของเมือง และการเปลี่ยนสีของพื้นผิววัตถุในเมืองให้เป็นสีขาว เพื่อลด
การสะสมความร้อนของวัสดุที่ปกคลุมพื้นผิว และ (4) ระบบหลังคาเย็น (Cool Roofs) เป็นระบบหลังคาแบบลดความร้อน ด้วยกลไกทางธรรมชาติโดยการติดตั้งอุปกรณ์ที่เพิ่มช่องระบายอากาศใต้หลังคา เพื่อการสะท้อนกลับของแสงอาทิตย์และความร้อนออกจากอาคาร โดยอาศัยหลักการ “อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นและดูดอากาศเย็นเข้าแทนที่” ทำให้อุณหภูมิของหลังคา
ลดลง และภายในตัวบ้านมีอากาศเย็นสบายมากขึ้น

จัดทำบทความโดย  นางสาวศิริวรรณ  ลาภทับทิมทอง  นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ

                         กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์  กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (๒๕๖๕). รู้จัก “ปรากฏการณ์เกาะร้อน” สาเหตุที่ทำให้ “คนเมือง” ร้อนกว่าอยู่ชานเมือง. สืบค้นเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖. จากเว็บไซต์:  https://www.bangkokbiznews.com/news/993282

ณภัสสร ธีร์ธวัชวงศ์. (๒๕๕๘).  แนวทางการบรรเทาผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนของเมืองในพื้นที่ความหนาแน่นสูง: กรณีศึกษาถนนสีลม. สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖. จากเว็บไซต์:  ww.sure.su.ac.th/ xmlui/bitstream/handle/123456789/20227/MA_ณภัสสร_ธีร์ธวัชวงศ์.pdf?sequence=1&isAllowed=y

ธนกฤต เทียนมณี. (๒๕๔๕). ปรากฏการณ์เกาะความร้อนกับสภาพทางกายภาพของเมือง. สืบค้นเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖. จากเว็บไซต์:  www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/thapra/Thanakrit_Teanmanee/Fulltext.pdf

ภาวิณี เอี่ยมตระกูล, ทัตเทพ หนูสุข, และพรจณัฐ อุบลฉาย . (๒๕๕๗) ผลกระทบของปัญหาสภาวะเกาะความร้อนเมืองต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ของคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖.  จากเว็บไซต์:  https://so02.tci-thaijo.org 

วิถีพีเดีย สารานุกรมเสรี. (มปพ.) ปรากฏการณ์เกาะความร้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖. จากเว็บไซต์:  https://th.wikipedia.org/wiki/ปรากฏการณ์เกาะความร้อน 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy
slot online situs slot gacor hari ini daftar istanaslot https://buletin303.com/ https://134.209.107.98:777/ https://188.166.233.138/

https://gangster4d.netlify.app/

gangster4d slot

gangster4d

Skip to content