Critical Knowledge: สผ. มีส่วนร่วมกับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ประเทศภาคีจะต้องเป็นเจ้าของอธิปไตยในพื้นที่นั้น ๆ ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่หรือสถานที่เหล่านั้นมีความเหมาะสมและควรได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก (UNESCO) ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก โดยแบ่งออกเป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม และในการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกนั้น ประเทศผู้เสนอต้องจัดเตรียมรายละเอียดข้อมูลของสถานที่ที่จะเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ได้แก่ เหตุผลความจำเป็น คุณลักษณะที่มีความโดดเด่นของสถานที่เหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สนใจเสนอชื่อสถานที่ในประเทศตนเองให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ต้องเริ่มจัดทำบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ขึ้นมาก่อน หรือเป็นบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน จากนั้นจึงจะเลือกจากสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นนี้เท่านั้น พร้อมกันนี้ ประเทศที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะต้องจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) เพื่อยื่นต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณา ได้แก่ สภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monuments and Sites) และสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) ทั้งสององค์กรจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในด้านของคณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อพิจารณาคัดเลือกสถานที่ที่มีคุณสมบัติได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือขอให้ประเทศที่เสนอชื่อจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพิ่มเติม  

กองบรรณาธิการได้ติดต่อเข้าสัมภาษณ์ คุณกรพินธุ์ พยัฆคประการณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ที่สนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในระยะที่ผ่านมา ตัวอย่างกรณีการขึ้นทะเบียนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ประเทศไทยได้เคยเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2558   2559 และ  2562 จนกระทั่งได้นำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ใน พ.ศ. 2564  ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 16 -31 กรกฎาคม 2564 โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ และในปีนี้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นับเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

บทบาทของ สผ. ได้ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (กอม.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ พ.ศ. 2559 ที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการขึ้นทะเบียนแหล่งที่มีศักยภาพของไทย ทั้งแหล่งทางวัฒนธรรมและแหล่งทางธรรมชาติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ตามแนวทางของอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลก โดยคุณกรพินธุ์ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนให้ทราบพอสังเขป ดังนี้

           1. ศึกษารายละเอียดในเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ซึ่งจะอธิบายข้อมูลที่จำเป็น อาทิ หน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลก เกณฑ์การขึ้นทะเบียน ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

           2. ศึกษาการดำเนินการของศูนย์มรดกโลก องค์กรที่ปรึกษา กอม. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติ คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน

           3. ศึกษาคู่มือและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Guidance on Heritage Impact Assessments (HIAs) for Cultural World Heritage Properties, Environmental Impact Assessment (EIA), Strategic Environmental Assessment (SEA) เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการ แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่ใกล้เคียง

4. ศึกษาศึกษาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากเอกสารคู่มือและการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกของไทยที่ผ่านมา รวมทั้ง รายงานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกตามลำดับ  

5. ด้านขั้นตอนการนำเสนอแหล่ง ได้มีการวางแผนตั้งแต่หน่วยงานรับผิดชอบเล็งเห็นถึงศักยภาพของแหล่งในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเตรียมพร้อมด้านข้อมูล เพื่อจัดทำเอกสารนำเสนอตามแบบฟอร์ม ซึ่งต้องแสดงให้เห็นถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value, OUV) ของแหล่งตามเกณฑ์ที่เสนอ รวมทั้งอธิบายการบริหารจัดการแหล่ง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ดำเนินการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างกระบวนการจัดเตรียมเอกสารนำเสนอ รวมทั้งเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กอม. และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็น ตามลำดับ และดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอที่ผ่านความเห็นชอบต่อศูนย์มรดกโลก ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนประสานงานภายหลังการจัดส่งเอกสารดังกล่าว จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญในปีที่นำเสนอ

อุปสรรคที่ควรเฝ้าระวังในการทำงาน  ได้แก่ (1) ระยะเวลาในการเสนอเอกสารต่าง ๆ ก่อนการจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก ในบางกรณีต้องมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ดังนั้น การปฏิบัติงาตควรมีการวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ รัดกุม และทันต่อกรอบเวลา และ (2) การเสนอแหล่งเป็นมรดกโลก ควรสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนการปรึกษาหารือและแจ้งล่วงหน้า เพื่อรับทราบความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคระหว่างการนำเสนอแหล่งเป็นมรดกโลก

ผู้ให้ข้อมูลสัมภาษณ์

นางกรพินธุ์ พยัฆคประการณ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ
ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานการบริหารจัดการมรดกโลก
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม

http://aseannotes.blogspot.com/2015/09/blog-post_1.html https://www.bic.moe.go.th/images/stories/book/translated-UNESCO/world_heritage.pdf

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy