“รองนายก ประเสริฐ” เตรียมพร้อมเชิงรุกลดปัญหามลพิษทางอากาศ เร่งบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถยนต์เบนซินผลิตใหม่ พร้อมทั้ง เห็นชอบโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม high speed train และ Motorway
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เป็นรองประธานกรรมการ และนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยประธานได้ให้นโยบายไว้ ดังนี้ (1) ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมให้ประสานและบูรณาการในการสงวน อนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรของประเทศให้มีความยั่งยืน (2) ขอให้ ทส. และ มท. ดำเนินการเชิงรุก สร้างความรู้ความเข้าใจกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการน้ำเสีย ขยะ และ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่จะเกิดในอนาคตเพื่อประเทศที่ไร้มลพิษ และ (3) การพิจารณารายงาน EIA ให้เป็นไปอย่างรอบคอบใช้ข้อมูลสำหรับโครงการนั้นๆ ประเมินผลกระทบฯ และเน้นการรับฟังจากประชาชน โดยที่ประชุมมีการเห็นชอบเรื่องที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ 1. แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ปีงบฯ 2569 รวม 43 จังหวัด รวมทั้งโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 โครงการ ของ ทม.อุทัยธานี ทม.บึงกาฬ และ อบต.แก่งหางแมว วงเงินประมาณ 285 ล้านบาท 2. การเร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์เบนซินผลิตใหม่ตามมาตรฐานยูโร 6 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากรถยนต์ รวมทั้งบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 3. โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีการจัดทำรายงานมาตรการและแผนลดก๊าซเรือนกระจก ระดับจังหวัด 76 จังหวัด ซึ่งต่อยอดสู่การจัดทำคู่มือการตรวจวัด 76 จังหวัด และแผนลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในพื้นที่ต้นแบบ 15 จังหวัด นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบรายงาน EIA 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูง สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ชุดที่ 1 ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล 2) โครงการระบบประปารองรับพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเกาะช้าง จังหวัดตราด 3) โครงการระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) 4) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครราชสีมา – ขอนแก่น และ 5) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ
จัดทำและเผยแพร่โดย กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมสันธ์
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)