10 มิถุนายน 2567 งานวิจัยระดับโลกชี้ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิต

งานวิจัยระดับโลกชี้ "ความหลากหลายทางชีวภาพ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิต

ที่มา : MGR Online (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000047224)

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เรียบเรียงข้อมูลและงานวิจัยระดับโลก ชี้ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อมโยงคุณภาพชีวิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการถูกคุกคามและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบไม่น่าเชื่อ โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเปิดเผยข้อมูลช่วงพ.ศ. 2513-2561 ชนิดพันธุ์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ลดลงกว่าร้อยละ 68 ความหลากหลายทางชีวภาพในโลกจึงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง สอดคล้องกับรายงาน Global Risks Report 2024 ที่ระบุว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับต้นๆ ร่วมกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงระบบของโลกในระดับวิกฤต ซึ่งกำลังส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความอยู่รอดของมนุษย์เรา ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรและเมือง และกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะมีการขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมืองแร่ การตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งบนบกและในทะเล อาจส่งผลกระทบต่อความชุกชุม การกระจาย และการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ การใช้ประโยชน์มากเกินไป และการรุกรานจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ล้วนขับเคลื่อนให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจึงเรียกว่าเป็นยุคเสี่ยงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติเท่านั้น

           ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้เรียบเรียงข้อมูลข้อมูลและงานวิจัยโดยหยิบยกประเด็นใกล้ตัวเรามาฝากคือ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ อาหารที่ดีต้องมีความหลากหลาย (ทางชีวภาพ) มนุษย์เราล้วนพึ่งพาอาหารจากพืชและสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล แล้วทราบกันหรือไม่ว่า การบริโภคอาหารในแต่ละวันให้มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือหลากหลายสายพันธุ์จะช่วยให้เราได้รับสารอาหารรอง (Micronutrients) อย่างเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กับการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผักผลไม้ที่มีสายพันธุ์ต่างกันแม้เพียงน้อยนิดจะมีสารอาหารรองที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ผักผลไม้ในสายพันธุ์เดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ก็จะมีสารอาหารรองแตกต่างกัน อย่างกรณีกล้วยที่มีเนื้อสีส้ม (orange-fleshed banana) จะมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่ากล้วยเนื้อสีขาวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน การมีข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมสร้างทางเลือกที่ดีในการบริโภค หรือพืชในกลุ่มกะหล่ำปลีและบ๊อกฉ่อยที่เป็นพืชในตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลีจะมีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) ที่ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน ส่วนบ๊อกฉ่อยมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน C,E เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) และซีลีเนียม (Selenium).ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกันแต่คุณประโยชน์ยังแตกต่างกัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy