12 พฤษภาคม 2567 ‘เนปาล’ จำกัดจำนวนนักปีนเขา ‘เอเวอเรสต์’ หลังสร้างปัญหา ‘ขยะ-สิ่งแวดล้อม’

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1125519
ศาลสูงสุดของเนปาลสั่งให้รัฐบาลจำกัดจำนวนนักปีนเขาที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวบนเขาเอเวอเรสต์และยอดเขาอื่น ๆ ในช่วงฤดูปีนเขาตั้งแต่เดือน พ.ค. หลังจากที่ประชาชนเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมบนเทือกเขาเอเวอเรสต์ที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว โดยดีพัก บิกรัม มิสรา ทนายความผู้ยื่นคำร้องขอให้ลดจำนวนนักปีนเขา กล่าวว่า ศาลได้สั่งให้จำกัดจำนวนนักปีนเขา และกำหนดมาตรการในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมของภูเขาด้วย
ในปี 2562 มีผู้คนจำนวนมากขึ้นไปสำรวจบนเอเวอเรสต์ จนทำให้เกิดการจราจรติดขัด ส่งผลให้ทีมนักปีนเขา ต้องรอหลายชั่วโมงบนยอดเขาอันหนาวเหน็บกลางอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง เสี่ยงต่อระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและเหนื่อยล้าได้ ซึ่งจากการศึกษาในปี 2553 ประมาณการว่าการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติสครมาถาก่อให้เกิดขยะมูลฝอย 4.6 ตันต่อวัน โดยช่วงที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นในเดือนเม.ย. – พ.ค. และ ต.ค. – พ.ย.
ท้ายที่สุดแล้วขยะส่วนใหญ่ก็ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน หรือบางครั้งก็ใช้การเผา ซึ่งเป็นการเพิ่มอนุภาคและสารเคมีที่เป็นพิษในอากาศ ขี้เถ้าที่เหลือจะถูกฝังกลบสามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินได้ และมีการพบ “ไมโครพลาสติก” ในตัวอย่างน้ำและหิมะจากบริเวณเบสแคมป์ ซึ่งอาจมาจากเสื้อผ้าปีนเขา เต็นท์ เชือก และรองเท้าบู๊ตที่ถูกทิ้งไว้ ขณะที่ธารน้ำแข็งคุมบูก็มีการพบ “สารเคมีตลอดกาล” ในระดับสูง อาจมาจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้ากันน้ำปีนเขา เต็นท์ และเสื้อผ้า
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งปฏิกูลรั่วไหลออกมาจากถังบำบัดน้ำเสียในที่พักหลายร้อยแห่งที่ตั้งอยู่ทั่วอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะจุดพักแคมป์ที่ 4 จุดพักสุดท้ายที่ก่อนที่จะพยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เต็มไปด้วยขยะและอุจจาระแข็งที่ลอยมาตามลม สิ่งปฏิกูลเหล่านี้สามารถแพร่กระจายในอากาศ อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้เล็กและทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงโรคที่เกิดจากน้ำ เช่น อหิวาตกโรคและไวรัสตับอักเสบ A ในหมู่นักปีนเขาและคนท้องถิ่น อัลตัน ไบเออร์ส นักธรณีวิทยาภูเขา ประมาณการว่าในแต่ละปีมีอุจจาระที่อยู่ในเบสแคมป์ประมาณ 5,400 กิโลกรัม โดยยังไม่ได้นับรวมอุจจาระที่ฝั่งอยู่รอบ ๆ ที่พัก