3 พฤศจิกายน 2566 ชวนดู 4 ต้นแบบการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็น ‘พื้นที่สีเขียวในเมือง’ แล้วย้อนดู ‘กรุงเทพฯ’ เป็นไปได้แค่ไหนที่จะกลายเป็นเมืองสีเขียว

ที่มา : https://thestandard.co/wasteland-into-green-space-models/
WHO ระบุว่า ประชาชน 1 คนควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ของเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้คนเมืองมีความสุขเพิ่มมากขึ้น
จริงหรือไม่
พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ซึ่งเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองมีความหนาแน่นมากเท่าไร พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้นต่อสุขภาวะของคนเมืองมากขึ้นเท่านั้น
กรุงเทพมหานคร จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ในเมื่อมองไปทางไหนก็เจอแต่ตึกสูงและชุมชนแออัด หรือเราจะสามารถใช้พื้นที่รกร้างมาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวได้จริง ถ้ายังนึกภาพไม่ออก เราจะยกตัวอย่างพื้นที่สีเขียวในต่างประเทศให้ดูกันว่าเขาใช้พื้นที่แบบไหน ได้แก่ Grand Canal Linear Park (จากคลองเก่าแก่ของเมืองสู่สวนสาธารณะ) Taichung Green Corridor (พัฒนาพื้นที่ใต้ทางรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว) Little Island (แปลงโฉมท่าเรือเก่าของนิวยอร์ก
สู่สวนสาธารณะแห่งใหม่กลางแม่น้ำฮัดสัน) Seoullo 7017 (โครงการฟื้นฟูทางข้ามแยกที่เสื่อมสภาพให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า) เป็นต้น
กรุงเทพมหานครก็มีความตั้งใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูได้จากโครงการต่างๆ เช่น Green Bangkok 2030 ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 รวมถึงเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะการ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง (Urban Tree Canopy) จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 17% ให้เป็น 30% หรือนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
คนเมืองอย่างเราๆ ก็หวังว่าจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนทางกายและชุบชูจิตใจให้มีแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้น เพราะความหอมสดชื่นจากดอกไม้และแสงแดดภายในพื้นที่สีเขียวจะทำให้เราเบ่งบานในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แล้วคุณล่ะอยากเห็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ไหนใกล้บ้านคุณ แสดงความคิดเห็นกันได้เลย