20 กันยายน 2566 รู้จัก Green City “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” แนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2726411
รู้จัก “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City)” แนวคิดพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง..ประเทศไทยตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065-2070 ตามแนวนโยบายแผนพลังงานชาติ ของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประกอบกับในปัจจุบันมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2026 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัย และกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปพร้อมๆ กับ “สิ่งแวดล้อม”
สำหรับ เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ถือเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เมืองและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน มีเป้าหมายหลักคือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานและพัฒนา โดยมีองค์ประกอบ 4 ด้าน และตัวชี้วัดในการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จะจัดพิธีมอบรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ดังนี้
- เมืองอยู่ดี คือการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม โครงสร้างพื้นฐานเพียงพอสำหรับคนทุกกลุ่ม มีความมั่นคง ด้านที่อยู่อาศัยปลอดภัย และเศรษฐกิจมั่นคง
- คนมีสุข สุขภาพดีถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้คนในเมือง ครอบคลุมการรักษา รวมทั้งส่งเสริมด้านการศึกษา นอกจากนี้ทุกคนจะต้องได้รับสวัสดิการ และการพิทักษ์สิทธิ
ที่เหมาะสมและเท่าเทียม มีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ดำรงประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น - สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์ มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ ภูมิทัศน์สวยงาม ของเสียหรือมลพิษถูกจัดการอย่างเหมาะสม และประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เทศบาลแห่งการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี มีวิสัยทัศน์ และแผนงานชัดเจน บุคลากรมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญระบบการทำงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมการบริหารจัดการที่ดี และมีนวัตกรรมการพัฒนาเมือง
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 4 มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่า แนวคิดการพัฒนา “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” นี้เป็นแนวคิดที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ และมีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องดำเนินการ ทั้งการใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาท้องถิ่น และเป็นกรอบในการดำเนินงานพัฒนาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)