26 กรกฎาคม 2566 รู้จัก การอาบป่า กิจกรรมเยียวยาใจ กระตุ้นจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2712106
การอาบป่า (Forest Bathing) เป็นศาสตร์บำบัดจากญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Shinrin Yoku ที่ใช้การสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้า ศาสตร์นี้เป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1982 กระทั่งปี 2002 จึงมีการก่อตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้น เพื่อวิจัยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในป่าที่ส่งผลต่อสุขภาพของคน
ข้อดีของการอาบป่า
– การอาบป่ากลายเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันของญี่ปุ่น และมีผลวิจัยของญี่ปุ่นพบว่าการอาบป่ามีข้อดีดังต่อไปนี้
– ทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
– มีอารมณ์และสมาธิดีขึ้น
– ลดระดับความเครียดได้ดี
การอาบป่าจึงเป็นการเยียวยาโดยใช้ธรรมชาติบำบัด ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองที่มีแต่ความรีบเร่งและเคร่งเครียด การหลบหนีความวุ่นวายแล้วเดินเข้าป่าเพื่อซึมซับธรรมชาติรอบตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ด้วยใจที่นิ่งสงบและมีสมาธิ
ทั้งนี้ การอาบป่า ไม่จำเป็นว่าต้องเดินเข้าป่าเสมอไป อาจเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือสวนใกล้บ้านที่มีความร่มรื่นของต้นไม้ ก็สร้างประสบการณ์อาบป่าได้แล้ว เพียงแค่ลองทำใจให้สงบ ถอดรองเท้าเดินสัมผัสผืนหญ้า หรือจะทำโยคะ ปิกนิก จิบชา ฝึกสมาธิกำหนดลมหายใจ อย่างน้อย 10 นาที หากมีเวลาลองใช้สัก 2 ชั่วโมง ก็ช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากเป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดจิตใจแล้ว การอาบป่ายังส่งผลดีต่อความยั่งยืน เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของป่าไม้ เกิดการจัดพื้นที่ป่าเพื่อส่งเสริมสุขภาพหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและนอกเมือง และทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในการช่วยพิทักษ์ป่าไม้
ขณะเดียวกันยังต่อยอดไปในเรื่องการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ได้อีกด้วย