20 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่พบเสือทิ้งซากกวางในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้ว คาดรู้ว่ามีคนมาอาจเป็นอันตราย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/north/1825143
เมื่อวันที่ ๑๓ เม.ย. ๖๓ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์พบซากกวางป่า เพศผู้ ตัวเต็มวัย น้ำหนักประมาณ ๑๘๐ กก. ถูกเสือโคร่งขนาดใหญ่ขย้ำคอกัดจนตายทิ้งร่องรอยบาดแผลเป็นรอยเขี้ยวบริเวณคอและบริเวณลำตัวหลายแห่ง บริเวณในปลักน้ำของคลองแม่เรวา ใกล้แปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น อยู่กลางป่าลึก ลึกเข้าไปจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ ๑๐ กม. สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์ เหมาะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เสือโคร่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกับ WWF นำกล้องดักถ่าย camera taps จำนวน ๓ กล้องไปติดตั้งไว้รอบซากกวางป่า เพื่อพิสูจน์ทราบ ตามที่ไทยรัฐออนไลน์ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น ซึ่งมีคนสนใจติดตามเป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ ว่านักล่าอย่างเสือโคร่งจะทำอย่างไรกับเหยื่อต่อไป
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒ (นครสวรรค์) พร้อมนายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เดินทางเข้าไปยังจุดเกิดเหตุอีกครั้งพบว่า ซากกวางป่าเริ่มอืด ส่งกลิ่น และมีแมลงวันตอม ซากกวางป่าถูกลากออกจากจุดเดิมประมาณ ๑ ม. ชิ้นเนื้อซากกวางป่าบริเวณข้อเท้าขวา และก้นโดนแทะ และบางส่วนชิ้นเนื้อหายไป จากนั้นได้เปิดภาพจากกล้องที่ตั้งแอบถ่ายไว้พบว่า เมื่อวันที่ ๑๖ เม.ย. ๖๓ เวลา ๑๙.๒๘ น.และเมื่อวันที่ ๑๗ เม.ย. ๖๓ เวลา ๐๓.๐๒ น. มีหมาไน ๑ ตัวมากินซากกวางป่าดังกล่าว โดยภาพที่ถ่ายได้ไม่พบสัตว์ใหญ่ชนิดอื่น พบเพียงรอยเท้าของหมี และสัตว์ปีกเข้ามารอบๆ ซาก จากการที่พบว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าว ไม่กลับมากินซากกวางป่าที่ตนเองล่าไว้ โดยพบร่องรอยเพียงรอยตีนเสือมาเดินวนเวียนอยู่ห่างๆ ในวันแรกหลังจากล่าแล้วเพียงวันเดียว จากนั้นไม่พบว่าเสือกลับมาหาเหยื่ออีกเลย ทำให้เจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า เสือผู้ล่าได้ยอมทิ้งซากแล้ว ทั้งที่โดยทั่วไปเสือจะไม่ยอมทิ้งซากง่ายๆ และจะหวงซากมาก จะทำร้ายสัตว์อื่นๆ รวมทั้งมนุษย์หากเข้าไปใกล้ซากที่มันล่าไว้ การที่เสือทิ้งซากในครั้งนี้ เพราะเสือตัวนี้เป็นเสือที่มีประสบการณ์เอาตัวรอดสูง โดยเมื่อเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามา หรือได้ยินเสียงรถยนต์ กลิ่นควันท่อไอเสียรถ ก็รู้ว่ามีคนเข้ามาในพื้นที่ คิดว่าไม่ปลอดภัย หรือเป็นเพราะยังอิ่มอยู่ เนื่องจาก ณ จุดห่างออกไปจากจุดนี้ประมาณ ๕๐๐ ม. มีกระดูกของหมูป่า ๑ ตัว ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ร่วมกับ WWF ยังคงตั้งกล้องดักถ่าย camera taps ไว้รอบซากกวางป่าตัวนี้ ต่อเนื่องต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่สมบูรณ์มากขึ้น สามารถนำไปใช้ในการวางแผนจัดการสัตว์ป่าผืนป่าแม่วงก์ต่อไป