1 พฤษภาคม 2566 กรมทะเลชายฝั่ง เผย “ปลาวัวไททัน” มีประโยชน์กับท้องทะเลแนะอย่าทำลายสิ่งแวดล้อม

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/news/local/2690128)
กรมทะเลชายฝั่ง เตือนกรณีครูสอนนักดำน้ำโพสต์ฆ่าปลาวัวไททัน แนะข้อปฏิบัติขณะดำน้ำ พร้อมฝากถึงนักท่องเที่ยวให้อนุรักษ์ทรัพยากร – สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ให้อยู่คู่ประเทศไทย วันที่ 30 เมษายน 2566 มีรายงานว่า จากกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่ง โพสต์ลงโซเชียลว่าตนถูกปลาวัวไททัน กัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (สรุปดราม่า ครูสอนดำน้ำโพสต์ฆ่า “ปลาวัวไททัน” ล่าสุดขอโทษ บอกโกรธที่โดนกัด)
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า “ปลาวัวไททัน” (Titan triggerfish) Balistoides viridescens
เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อน และเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อย และพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินสัตว์น้ำหน้าดิน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร
จากการวิจัยพบว่ามีขนาดใหญ่สุดประมาณ 75 cm. ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทราย ใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล) ด้านพฤติกรรมนั้นเป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าว เมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททัน จึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนี้ ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตาม
ก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการัง ขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้น จนขาดภาวะสมดุล