5 เมษายน 2566 ถอดบทสรุป เวที CED 7 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถอดบทสรุป เวที CED 7 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

(https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/561069)

ถอดบทสรุป เวทีการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 หรือ CED 7 ระดับรัฐมนตรี รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ

           ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปผลการประชุม CED 7 รายงานเข้ามายัง ครม. ซึ่งความสำคัญของการประชุม CED 7 จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อยของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific : ESCAP) แห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงปัญหามลพิษข้ามแดนที่สำคัญโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกร่วมกันทบทวนการดำเนินงานตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่รับรองเมื่อปี 2560

           การประชุมระดับรัฐมนตรี ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ และการดำเนินงานเพื่อบรรลุการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่มากเกินไป การทำลายถิ่นที่อยู่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชนิดพันธุ์รุกราน ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และปัญหาทางมลพิษ เช่น มลพิษจากขยะมูลฝอยและพลาสติกที่ส่งผลกระทบขยายไปถึงระบบนิเวศทางทะเล 

           ปฏิญญาปกป้องโลกของเรา จากผลการหารือที่ประชุมยังได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเรา 2. แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคฯ (เป็นภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ) 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy