เลขาธิการ สผ.ย้ำ “1.5 เมจิกนัมเบอร์สำคัญที่ไทยต้องเตรียมการรับมือ”
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. ให้เกียรติเป็นวิทยากรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่น 17 (วพน.17) ในหัวข้อ Climate Change, A world Evitable Challenge ณ ศูนย์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารระดับสูงและผู้นำจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชน ในเรื่องพลังงาน ความจำเป็นของพลังงานขั้นพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย เลขาธิการ สผ.ได้กล่าวถึงสถานการณ์โลก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความจำเป็นที่ต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลกนำมาสู่การเตรียมการเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions)ในปี ค.ศ. 2065 การนำเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG การเร่งออก (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในช่วงท้าย
ของการบรรยาย เลขาธิการ สผ. ได้ตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมอบรม อาทิ ข้อจำกัดของกฎหมาย การมีส่วนร่วมของ SME และมาตรการจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรดังกล่าว ประมาณ 85 คน


จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)