16 มกราคม 2566 โลกร้อน BCG และการพัฒนาที่ยั่งยืน ในกระแสเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี

ที่มา : https://www.thaipost.net/articles-news/302271/
หากย้อนกลับไปกว่า 4 ทศวรรษก่อนหน้านี้ จะพบความสนใจของประชาคมโลกที่มีต่อ
การขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เคลื่อนไหวหลากหลายมิติอย่างกระจัดกระจาย โดยมีวิธีคิด สมมุติฐาน ทฤษฎี และมีมุมมองวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ เคลื่อนอยู่ในกระแสเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันไป (ในยุคนั้นการสื่อสารในสังคมออนไลน์และการสื่อสารโดยรวมยังไม่รวดเร็วเช่นวันนี้!) ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้นในหลายมุมโลกขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางเศรษฐกิจสังคมนั้นๆ เผชิญปัญหาอะไร? และเผชิญแรงกดดันเรื่องอะไร?
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงมีทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการศึกษา ปัญหาการเหยียดผิว เพศ ชาติพันธุ์ ปัญหาแรงงานในสังคมอุตสาหกรรม การต่อต้านมลภาวะ ไปจนถึงปัญหาเฉพาะด้าน เช่น ปัญหาเด็ก สตรี คนจน คนไร้บ้าน และปัญหาสลัม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต่อมาได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาคมโลก ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ-เข้ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาในแบบของฉันทามติร่วมของสังคมโลก ที่มุ่งเฝ้าระวัง-ร่วมช่วยขจัดปัญหาให้ทุเลาเบาบางลงและขจัดให้หมดไปในหลายปัญหา!
เมื่อราว 2 ทศวรรษก่อนที่จะมีการนำเสนอทิศทางการปฏิบัติการเศรษฐกิจ BCG (Bio-circular-Green) ที่ประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-การนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร-การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นภาคปฏิบัติการในการนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เน้นให้ความสำคัญ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการคิดสร้างนวัตกรรมทั้งในการผลิตที่ใช้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ-การหมุนเวียนในการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่-และการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน-ทำให้คนรุ่นอนาคตมั่นใจว่าจะได้รับการส่งต่อโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กับโลกในรุ่นคนปัจจุบัน