19 ตุลาคม 2565 UN-GCNT ชี้ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ต้นทุนเศรษฐกิจ เตรียมรวมพลังภาคเอกชน ในงาน GCNT Forum 2022 ต้นพฤศจิกายนนี้
UN-GCNT ชูประเด็น “ความหลากหลายทางชีวภาพ” วิกฤตสำคัญเหมือนโลกร้อน หวั่นกระทบฐานทรัพยากรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ชวนจับตาการประชุมโลกร้อน COP27 ที่อียิปต์ และการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ COP15 ที่แคนาดา เตรียมรวมพลังสมาชิก GCNT กว่า 100 องค์กร เร่งหาทางฟื้นฟูระบบนิเวศ ต่อยอดธุรกิจ ในงานใหญ่ GCNT Forum 2022 ต้นพฤศจิกายนนี้
นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) เป็นหนึ่งในสามวิกฤตการณ์ของโลก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการแก้ปัญหาโดยอิงธรรมชาติอย่างเร่งด่วน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติหรือ UNEP ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการฟื้นฟูจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 ดอลลาร์ หรือกล่าวได้ว่าการลงทุน เพื่อปกป้องฟื้นฟูธรรมชาติจะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า
ในสัมมนาออนไลน์ Investment in Nature and Biodiversity มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ร่วมนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิ ดร. เทเรซา มันดิต้า
(Dr. Theresa Mundita S. Lim) ASEAN Centre for Biodiversity ดร.บาลาคริสนา ปิสุพาติ (Dr. Balakrishna Pisupati) UNEP Law Division ดร. ภัทรินทร์ ทองสิมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ดร. เพชร มโนประวิตร โครงการประเมินระบบนิเวศระดับชาติ คุณสุศมา ปิตากุลดิลก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) คุณพิชชนก เหลืองอุทัย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
โดยทุกฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชี้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ก็มีความเปราะบางและภัยคุกคาม ที่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการจัดการอย่างยั่งยืนทั้งระบบ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ การจัดการ เงินทุน รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีความหลายหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก แต่เกือบ 470 สายพันธุ์กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ไทยยังต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 31.68% โดยภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้นี้ จะส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศทางการเกษตร และสุดท้าย ประเทศไทยมีพื้นที่ชายฝั่งกว่า 3,151 กม. แต่ปัจจุบันยังมีการทำประมงผิดกฎหมาย ระบบนิเวศทางทะเลและชายหาดยังคงถูกคุกคาม และต้องการให้ภาคส่วนต่างๆ เร่งเข้าไปดูแล