21 มีนาคม 2563 ไวรัสโคโรนา : คนจน นับพันล้านคนทั่วโลกจะหาน้ำสะอาดที่ไหนล้างมือ

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3787369
ในขณะที่ยุโรปและอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกปิดพรมแดนของตัวเองเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา ยังมีผู้คนอีกหลายล้านที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้
ผู้คนราวพันล้านคนหรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกยังอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ บ้านเรือนในชุมชนเหล่านี้มักมีระบบระบายอากาศ ท่อประปา และการระบายน้ำที่ไม่ดีซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายดาย
ปิแอร์ เอ็มเปเล อดีตผู้แทนขององค์การอนามัยโลกที่เคยทำงานกับหลายประเทศในแอฟริกากลางและใต้ กล่าวว่า ที่พักอาศัยในประเทศเหล่านี้มีความแออัดคับแคบอย่างมาก บางแห่งมี 12 คน อยู่ร่วมหลังคาเดียวกัน “การกักตัวเองมันเป็นไปไม่ได้เลย”
ไม่ใช่แค่เพียงในเขตสลัมเท่านั้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เมื่อปีที่แล้ว เมืองใหญ่อย่างโยฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ และเมืองเจนไนของอินเดียก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน
ชานธี สาสินธณัฐ หญิงลูกสองชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ชานเมืองเจนไน เล่าให้บีบีซีฟังว่า “ถ้าเกิดน้ำขาดแคลนแบบปีที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะล้างมือได้บ่อย ๆ”
ครอบครัวของชานธีเอาชีวิตรอดจากวิกฤตครั้งก่อนมาได้ด้วยการซื้อน้ำสำหรับใช้ทำเกษตรกรรมจากบ่อที่อยู่ห่างออกจากบ้านไปไกลถึง 50 กิโลเมตร
ย่านนี้ยังมีห้องน้ำสาธารณะและจุดจ่ายน้ำที่น้อยมาก ชานธียอมรับว่าผู้คนไม่ค่อยปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยจากภาครัฐเท่าไหร่นัก
“คนบนรถไฟไอห่างจากหน้าคุณแค่ไม่กี่นิ้ว แล้วไม่เอามือปิดปากด้วย ถ้าฉันออกปากตำหนิ บางคนก็ขอโทษ แต่บางคนชวนหาเรื่องทะเลาะ” ชานธีเล่า
เพื่อนและญาติมาเยี่ยมบ้านทุกวัน ชานธีเองยังไม่แน่ใจว่าจะลดการติดต่อกับคนอื่น ๆ อย่างไรดี
“ฉันบอกให้ลูก ๆ ล้างมือช้า ๆ ให้สะอาดทุกซอกทุกมุมทุกครั้งเวลากลับเข้ามาในบ้าน แม้ว่าจะออกไปแค่ห้านาที ครอบครัวเราออกไปเที่ยวน้อยกว่าเดิมมากค่ะ”
ป๊อปปี แลมเบอร์ตัน อาจารย์ด้านบริการสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยกลาสโกลว์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้เร่งดำเนินการแก้ปัญหา
“บางรัฐบาลก็ไม่มีเงินเก็บในคลังมาก แต่พวกเขาก็ไม่ลำบากมากเท่ากับประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสแบบนี้ พวกเขาต้องสามารถแยกผู้คนในชุมชนทั้งหมดได้”
แม้องค์การอนามัยโลกจะกำลังให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของหลายประเทศในการบริหารจัดการกับวิกฤติครั้งนี้ แต่ปิแอร์ เอ็มเปเล อยากให้องค์การอนามัยโลกมีแผนการที่ใช้งานได้จริงกับประเทศกำลังพัฒนาด้วย