4 พฤษภาคม 2565 เมื่อ “แพขยะขนาดใหญ่” ในมหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นระบบนิเวศแบบใหม่ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9650000042172
ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นเรื่องร้ายหรือเรื่องดี เมื่อแพขยะขนาดใหญ่ในทะเลแปซิฟิก ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำและลม ได้พัดพาเอาขยะจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกันจนกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ (บางแห่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยเสียอีก) กลายมาเป็นระบบนิเวศแบบใหม่ที่มีสิ่งมีชีวิต (แปลกๆ) ด้วย
โดย Rebecca Helm นักชีววิทยาพัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองว่า การอ้างอิงจากรายงานที่มีการพยายามกำจัดแพขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเก็บขยะขึ้นมาในแต่ละครั้ง มักจะถูดตรวจพบสิ่งมีชีวิตติดมากับแหเก็บขยะในทุกๆ ครั้ง ซึ่งก็พบได้ในพื้นที่ต่างๆ กันในทะเลแปซิฟิก
เมื่อถูกนำมาวิเคราะห์ ก็จะพบว่าในพื้นที่แพขยะเหล่านี้ น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในพื้นที่มากกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ ในบรรดาสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ถูกพบ ก็รวมไปถึง แมงกะพรุนไฟเรือรบ ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก และ มังกรทะเลสีน้ำเงิน สิ่งมีชีวิตจำพวกทากที่จะกินสัตว์มีพิษอื่นๆ เพื่อขโมยพิษมาใช้เอง นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีการวิวัฒนาการตัวเองให้สามารถอาศัยอยู่ในระบบนิเวศจากแพขยะเหล่านี้
และจากการค้นพบนี้ จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่า จากที่เคยมุ่งกำจัดขยะในพื้นที่มหาสมุทรแบบที่เคยทำมาอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป มีแนวคิดมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้แพขยะใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยการหยุดมลพิษพลาสติกที่แหล่งกำเนิดมากกว่า ส่วนแพขยะที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะแบบเกาะกาลาปากอส และมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการมาเพื่ออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว