12 มีนาคม 2565 “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ” เสี่ยงปรับตัวไม่ทันวิกฤตสภาพภูมิอากาศ!

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9650000024337
จากรายงานฉบับล่าสุดของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เตือนว่า“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นตัวเร่งทำให้ปะการังใน เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ( Great Barrier Reef ) ปรับตัวกับภาวะที่เกิดขึ้นไม่ทัน รวมทั้งน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นยังทำให้ปะการังเหล่านี้แทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย รัฐบาลออสเตรเลียจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นและเร็วกว่าเดิมจากที่เคยวางแผนไว้”
เดวิด ริทเตอร์ ผู้บริหารของกรีนพีซออสเตรเลีย แปซิฟิก กล่าวว่ารายงานระบุชัดเจนว่า เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ จะถูกทำลายในอนาคตหากเรายังไม่หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน ก๊าซและน้ำมัน และไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนให้เร็วกว่านี้ พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นทางเลือกที่เสนอคำตอบในการหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปะการังฟอกขาวและยังเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เองก็มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง “แนวปะการังจะไม่สามารถทนต่อมาตรการการชดเชยคาร์บอนหรือเทคนิคใด ๆ ก็ตาม เช่น การสร้างม่านบังแดดยักษ์ให้กับแนวปะการัง หรือการเพาะพันธุ์ปะการังหลอดแก้ว รายงานของ IPCC ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่ามาตรการเยียวยาเหล่านั้นเป็นเพียงมาตรการปลายทางแต่ไม่ได้ตัดต้นตอของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นอกจากปะการังแล้ว ผลวิจัยของรายงาน IPCC ยิ่งทำให้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะไม่รอดชีวิตเช่นกัน หากเรายังไม่รับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยฉุกเฉิน
ดร.โจดี้ รัมเมอร์ รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเลให้ความเห็นไว้ว่า “เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ เป็นบ้านของปลากว่า 1,500 สายพันธุ์ รวมทั้งฉลาม วาฬ และเต่าทะเลอีกถึง 6 สายพันธุ์จากที่ทั้งโลกมีอยู่ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์แต่พวกมันกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” “เราจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเร็วและจริงจังให้มากที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ยังคงเพิ่มขึ้นนั้นกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตหลายร้อยสายพันธุ์และเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบนิเวศอีกด้วย”