5 มีนาคม 2565 เศร้า! ไม่เหลือภาพความสวยงาม “ปะการังเขากวางน้ำตื้น” ที่เกาะเฮ อ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ผ่านมา 4 ปี ตายเกือบหมด

ที่มา : https://mgronline.com/south/detail/9650000021733
กำลังกลายเป็นกระแสในสื่อโซเชียล หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kongkiat Kittiwatanawong ซึ่งคือ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า “ปะการังเขากวางน้ำตื้น บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเฮ อ่าวกุ้ง ภูเก็ต ที่เคยสวยงามในเนื้อที่เกือบ 1,000 ตารางเมตร ผ่านมา 4 ปี ในวันนี้ดูแล้วเศร้า สาเหตุที่สรุปได้ตอนนี้คือ ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำลงมากผิดปกติในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ IOD (Indian Ocean Dipole)
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสำรวจแนวปะการังเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ได้เผยผลการสำรวจสถานภาพแนวปะการังบริเวณอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต รวมทั้งเกาะในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรายงานว่าจะมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา ซึ่งได้มีการสำรวจทั้งหมด 7 สถานี เบื้องต้น พบว่า แนวปะการังในพื้นที่ส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดิมที่กรมมาสำรวจไว้เมื่อปี 2556 โดยพบว่าแนวปะการังฟื้นตัวจากสถานภาพเสียหายมาก กลับอยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง 4 สถานี ได้แก่ เกาะเฮ เกาะปายู เกาะรา และเกาะแพ ส่วนที่ยังมีสถานภาพเสียหายมี 2 สถานี ได้แก่ เกาะงำ และแหลมขาด และที่มีสถานภาพเสียหายมาก 1 สถานี คือ ชายฝั่งอ่าวกุ้ง ปะการังที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.)
ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพปะการังในบริเวณนี้ คือ ตะกอนตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงา ล้อมรอบด้วยป่าชายเลน และลักษณะพื้นทะเลเป็นทรายปนโคลน ทำให้น้ำค่อนข้างขุ่น แนวปะการังมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า และง่ายที่ตะกอนพื้นทะเลจะฟุ้งกระจายขึ้นมาทับถมบนปะการัง