23 กุมภาพันธ์ 2565 พบฟอสซิลเทอโรซอร์ยุคจูแรสสิกใหญ่ที่สุด

ที่มา:

https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/166873

นักศึกษาปริญญาเอกพบฟอสซิลกระดูกขากรรไกรของเทอโรซอร์ตัวนี้ในชั้นหินปูนบนชายฝั่งเกาะสกาย (Isle of Skye) ของสกอตแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2017 ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะนำไปศึกษาอย่างละเอียด และเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Current Biology  โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เทอโรซอร์ตัวนี้ ซึ่งตั้งชื่อว่า เดียร์ค จาร์กสกีอันอัค (Dearc sgiathanach เป็นภาษา Gaelic แปลว่า สัตว์เลื้อยคลายมีปีก) มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 170 ล้านปีก่อน ในยุคจูแรสสิก และด้วยความยาวปีก 2.5 ม. ทำให้มันเป็นเทอโรซอร์จากยุคจูแรสสิกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบมา และเป็นสิ่งมีชีวิตบินได้ขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่บนโลกในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ เทอโรซอร์ในยุคครีเทเชียส ซึ่งเป็นยุคถัดจากยุคจูแรสสิก หลายตัวมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยอาจใหญ่เท่ากับเครื่องบินขับไล่  ซึ่งการค้นพบเจ้า เดียร์ค นั้นแสดงให้เห็นว่า เทอโรซอร์เริ่มมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นตั้งแต่ยุคจูแรสสิก และจากการวิเคราะห์กระดูกเทอร์โรซอร์ตัวนี้ยังไม่โตเต็มที่ ซึ่งหากมันโตเต็มวัยแล้วอาจมีความยาวปีกถึง 3 ม.

อย่างไรก็ตาม มันมีน้ำหนักตัวน้อยมาก อาจจะไม่ถึง 10 กก. เนื่องจากกระดูกที่กลวงและเบา และโครงสร้างที่เพรียวบาง คือ กะโหลกที่ยื่น และหางที่ยาวแข็ง นอกจากนี้ มันยังมีฟันที่แหลมคมเหมือนซี่กรงสำหรับงับเหยื่อ เทอโรซอร์ เป็นหนึ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หาฟอสซิลได้ยากที่สุด เนื่องจากกระดูกที่บอบบาง โดยบางชิ้นบางยิ่งกว่าแผ่นกระดาษ เทอโรซอร์ เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกในสามกลุ่มที่บินได้ โดยปรากฏขึ้นบนโลกครั้งแรกเมื่อ 230 ล้านปีก่อน ตามมาด้วยนก เมื่อ 150 ล้านปีที่แล้ว และค้างคาว เมื่อ 50 ล้านปีที่แล้ว ในยุคที่เดียร์คมีชีวิตอยู่ บริเวณที่เป็นประเทศอังกฤษเคยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรกว่าในปัจจุบัน และมีเกาะเล็ก ๆ แยกจากกันจำนวนมาก โดยเดียร์คอาศัยอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์กินพืช และกินเนื้อ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอีกมากมายหลายชนิด

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy