6 มีนาคม 2563 “อากาศพิษ” ฤทธิ์ร้ายเหลือ!

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/137110

“มลภาวะทางอากาศ” ที่อากาศมีสภาพเป็นพิษ ต้องถือเป็นอีกหนึ่งวิกฤติปัญหาของมนุษยชาติเราเผชิญกันในหลายพื้นที่ แทบจะทั่วทุกมุมโลกเลยก็ว่าได้ แถมมิหนำซ้ำเผชิญหน้ากับวิกฤติปัญหานี้เป็นประจำทุกปีอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศเสีย ควันพิษทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ยวดยานพาหนะ และการเผาตอซังพืชไร่ของเหล่าเกษตรกร รวมไปถึงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันฮิตติดปากว่า PM2.5 ซึ่งกำลังตลบฟุ้งในอากาศของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยเรา ณ เวลานี้ด้วย ส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข ออกมาเตือนถึงพิษภัยของมลภาวะทางอากาศข้างต้นให้ประชาชนชาวโลกทั้งหลายให้ได้ตระหนักกันอยู่เนืองๆ

สองศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพประชาชนแห่งเมืองเบียร์ ประเทศเยอรมนี ได้แก่ ศ. โยส เลลีเวลด์ แห่งสถาบันเคมี “แม็กซ์ แพลงค์” ในเมืองไมนซ์ และ ศ. โธมัส มึนเซล แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเมืองไมนซ์ ออกมาส่งซิกสะกิดเตือนในรายงานฉบับใหม่ ที่พวกเขาและทีมงานศึกษาวิจัยผลกระทบของมลภาวะทางอากาศที่มีต่อประชาชนในประเทศต่างๆ แทบจะทั่วทุกมุมโลก ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 3 ปีเป็นต้นมา ก่อนเปิดเผยในแบบจำลองการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกออกมา

โดยผลการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ทั้งสอง ระบุว่า วิกฤติมลภาวะทางอากาศที่กระจายไปทั่วโลกจนเกินที่จะควบคุมนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนร้ายแรงยิ่งกว่าการคุกคามสุขภาพที่มาจากการสูบบุหรี่ ไข้มาลาเรีย โรคเอดส์ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือแม้แต่กระทั่งจากการสู้รบในสงครามที่ยิงกันตูมตามเสียอีก ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ทั้งสองมีตัวเลขที่จะได้จากการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

ในบทรายงานเปิดเผยเป็นตัวเลขเชิงสถิติ โดยระบุว่า พิษภัยของมลภาวะทางอากาศทำให้มนุษย์เรามีอายุสั้นลง คือ ตายก่อนวัยอันควร จำนวนถึง 8.8 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยก็ราวๆ 3 ปี คือ แทนที่จะได้อยู่ดูโลกต่อไปอีก 3 ปี ก็มีอันต้องชีวิตสิ้นสุดลงจากวิกฤติปัญหาของมลภาวะทางอากาศ ตัวเลขข้างต้น ก็มากกว่าพวกสิงห์อมควัน ที่พิษภัยของควันบุหรี่ ทำให้บรรดาสิงห์อมควันเหล่านั้น มีอายุสั้นลงเฉลี่ย 2.2 ปี  และไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะมีผลของการศึกษาวิจัยรองรับ นั่นคือ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อป่วยเป็นโรคเอดส์ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องนั้น ปรากฏว่า มลภาวะทางอากาศ ก็ยังมีพิษร้ายแรงกว่า เพราะผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีอายุสั้นลงเฉลี่ยแล้วก็ 0.7 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยด้วยไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะปรากฏว่า ทำให้อายุสั้นลงเฉลี่ยแล้วเพียง 0.6 ปี ใช่แต่เท่านั้น แม้เปรียบเทียบกับผู้คนที่พำนักอาศัยในพื้นที่สงคราม ที่มีการสู้รบ ก็ปรากฏว่า มีอายุสั้นลงโดยเฉลี่ยเพียง 0.3 ปี เท่านั้น

ทั้งนี้ ก็เป็นผลมาจากมลภาวะทางอากาศที่ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณหลบเลี่ยงได้ยาก แตกต่างจากเหตุปัจจัยที่สามารถป้องกันหลบเลี่ยงได้ง่ายกว่า หรือหลบหนีออกจากพื้นที่เสี่ยงไปได้ เช่น การอพยพออกจากพื้นที่สงคราม เป็นต้น

รายงานข้างต้นยังเปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยในแต่ละภูมิภาคของโลกอีกด้วย โดยระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีจีนแผ่นดินใหญ่ รวมอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วยนั้น ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศหนักที่สุด จากการที่มีอัตราเฉลี่ยของอายุขัยสั้นลง 1.7 ปี และยังมีรายงานด้วยว่า ประชากรในภูมิภาคแถบนี้ มีอัตราการเสียชีวิตจากผลพวงของมลภาวะทางอากาศอยู่ที่ 196 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ในแต่ละปี เปรียบเทียบกับภูมิภาคยุโรป ที่มีอัตราการเสียชีวิต 133 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี อายุขัยสั้นลงก็อยู่ที่ราวๆ 1.1 ปี แต่ไม่เกิน 1.7 ปี ส่วนภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วยนั้น อายุขัยสั้นลงเพราะมลภาวะทางอากาศคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 1.4 ปี

โรคร้ายที่มากับมลภาวะทางอากาศ จนทำให้เหยื่อต้องดับชีพลงนั้น ก็มีทั้งโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น และโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเกี่ยวกับหัวใจเป็นมัจจุราชร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนในแต่ละปีมากที่สุด ยิ่งโรคร้ายอื่นๆ ที่มนุษย์เราเผชิญ แถมยังสามารถปลิดชีวิตผู้ป่วยได้แบบปัจจุบันทันด่วนอีกต่างหาก ด้วยประการฉะนี้ ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้เสนอแนะให้ทางการของประเทศต่างๆ ได้ตระหนักถึงพิษภัยของวิกฤติมลภาวะทางอากาศ พร้อมกับหามาตรการในอันที่จะทำให้วิกฤติบรรเทาบางลง เช่น ลดการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม ที่ทำให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาเป็นจำนวนมาก การรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้อากาศเสีย ก่อมลภาวะทางอากาศ โดยยกตัวอย่างกลุ่มประเทศในอเมริกาเหนือ ที่สามารถลดมลภาวะอากาศได้ถึงร้อยละ 85 เป็นต้นแบบของการดำเนินมาตรการ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy