5 มีนาคม 2563 นาโนเทคผนึก 2 เทคโนโลยีตัวช่วยกรองน้ำสะอาด

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/869227?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=innovation

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีชั้นนำ ที่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศและมนุษยชาติผ่านงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม และประยุกต์นาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและสามารถถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ให้แก่ภาคการผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในปัจจุบันนาโนเทคพัฒนาเทคโนโลยีด้านการกรอง และบำบัดเพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพเหมาะสม เช่น น้ำดีสำหรับอุปโภคบริโภค หรือน้ำทิ้งตามมาตรฐาน สำหรับปล่อยทิ้งแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ซ้ำ โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green technology) รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม และสิ่งสำคัญอีกประการคือ มุ่งสร้างพันธมิตรเพื่อบูรณาการร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านน้ำเพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายของประเทศ จุดเด่นด้านเทคโนโลยีนาโนที่ตอบโจทย์เรื่องน้ำ คือ ขนาดของวัสดุกรองซึ่งขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีพื้นที่สำหรับดักจับหรือย่อยสลายสารปนเปื้อน (มลสาร) ได้มากขึ้น รวมถึงสมบัติทางพื้นผิว สามารถปรับปรุงพื้นผิวของวัสดุกรองให้มีสมบัติพิเศษ เช่น กรองและยับยั้งเชื้อ หรือพัฒนาชั้นฟิลม์บางบนไส้กรองเพื่อเลือกดักจับเกลือ ดร.ชลิตา รัตนเทวะเนตร นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทคกล่าวว่า วัสดุที่มีรูพรุนขนาดนาโน หรือMOF (Metal-Organic Framework) ที่มีสมบัติดูดซับได้ดี เนื่องจากมีรูพรุนสูงมาก แต่รูพรุนของ MOFs จะมีความโดดเด่นของขนาดรูพรุนที่เท่ากันทุกรูทุกครั้ง ทำให้สามารถกำหนดการยอมให้สสารวิ่งผ่าน และคัดกรองสสารที่วิ่งผ่าน “เรามองว่า MOFs สามารถตอบโจทย์ผสานกับเทคโนโลยีเมมเบรน ซึ่งเป็นการกรองสสาร จึงนำพอลิเมอร์เมมเบรน ซึ่งเป็นโลหะโครงข่ายอินทรีย์ มาใส่คุณสมบัติของ MOFs เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น และพบว่า นวัตกรรมจากเส้นใยพอลิเมอร์ผสม MOFs สามารถกรองกลุ่มสีย้อม ยาปฏิชีวนะ ทำให้สามารถบำบัดน้ำเสีย น้ำทิ้งกลุ่มสีย้อมหรือยาได้ดี” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว นอกจากนี้ ทีมวิจัยนาโนเทค ยังทำการทดสอบการแยกน้ำและน้ำมัน ในกลุ่มของสารละลายอินทรีย์ ที่สามารถต่อยอดการใช้งานในไลน์การผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนำสารละลายราคาสูงที่ต้องการกลับมาใช้ใหม่ หรือจะใช้เพื่อแยกสารเคมีก่อนบำบัด ดร.ชลิตาชี้ว่า ปัจจุบัน เส้นใยพอลิเมอร์ผสม MOFs วิจัยเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ทีมวิจัยนาโนเทคสามารถขึ้นรูปเอง ผลิตได้เอง โดยปลายทางที่วางเป้าไว้คือ ระบบการกรองที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม พร้อมออกแบบให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่จำเพาะเจาะจงกับสสารที่ต้องการกรองในระดับที่ก้าวหน้ามากขึ้น “ภาคอุตสาหกรรมตอนนี้ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเมมเบรนในการบำบัดมากนัก ด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่แพร่หลาย และมีต้นทุนสูง แต่เทคโนโลยีเมมเบรนมีประสิทธิภาพสูง และไม่ต้องใช้สารเคมีในการบำบัด ซึ่งจะกลายเป็นของเสียต่อเนื่อง เป็นเทคโนโลยีสะอาดที่ตอบเทรนด์รักษ์โลก” นักวิจัยนาโนเทคทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy