14 กุมภาพันธ์ 2563 พระมหากรุณาธิคุณ “ป่าเปียก” แนวพระราชดำริป้องกันไฟป่า

พระราชดำริป่าเปียกเกิดขึ้นเพื่อช่วยเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาไฟป่า ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นขึ้น โดยนำเอาหลักการที่แสนง่ายดาย แต่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล มาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวิธีการประกอบกัน ได้ทรงพระราชทานวิธีการสร้าง “ป่าเปียก” เอาไว้ให้ประชาชนได้ดำเนินการตามพระราชดำริ 6 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1) การจัดทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยที่มีการใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ไปปลูกที่บริเวณตามแนวคลองต่างๆ
2) การสร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟของป่าเปียก โดยที่มีการอาศัยน้ำในชลประทาน และน้ำฝนมาช่วย
3) การปลูกต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว เพื่อใช้ครอบคลุมแนวร่องน้ำ ส่งผลทำให้บริเวณดังกล่าวนั้นเกิดความชุ่มชื้นอย่างทวีขึ้น และก็สามารถแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างของร่องน้ำ ทำให้ต้นไม้งอกงาม และมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าได้เป็นอย่างดี เพราะว่าไฟป่านั้นมักจะเกิดขึ้นง่าย หากป่าขาดความชุ่มชื้น
4) การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Check Dam” เพื่อปิดกั้นร่องน้ำ หรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อที่จะใช้เก็บกักน้ำ และตะกอนดินเอาไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้ จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ช่วยทำให้ดินเกิดเป็นความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น “ป่าเปียก”
5) การสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมลงดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูปภูเขาป่า ให้กลายเป็นป่าเปียก ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
6) การปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่น ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก
7) การไม่เผาขยะ ไม่เผากิ่งไม้ ใบไม้ต่างๆ บริเวณที่โล่งแจ้ง พร้อมกับวิธีการลดการใช้ยานพาหนะ เพื่อจะช่วยลดการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และในแต่ละพื้นที่ควรมีการจัดการและควบคุมปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมไปถึงควันเสียที่เกิดมาจากโรงงานอุตสาหกรรมให้จริงจังกว่าที่ผ่านมา เป็นต้น