เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยกลไกที่ยั่งยืน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตระหนักว่า การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นงานสำคัญที่ เริ่มจากจุดเล็กๆ ขยายขอบเขตเชื่อมโยงกับระบบนิเวศในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ กระทั่งสู่วงกว้างในระดับโลก จึงจำเป็นที่ต้องออกแบบยุทธศาสตร์การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงกัน
เช่นเดียวกับกลไกตามธรรมชาติ ระบบนิเวศขนาดเล็กในพื้นที่ต่าง ๆ จะถูกเชื่อมเข้าไว้ด้วยกันผ่านความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ด้วยสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่าง เกิดเป็นระบบนิเวศอันหลากหลาย ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลทราย ไปจนถึงมหาสมุทร ฯลฯ ประกอบขึ้นเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง กระจัดกระจายอยู่ตามถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งทางบกและทางน้ำ มีพรรณไม้ที่ศึกษาแล้วประมาณ 20,000 ชนิด และพันธุ์สัตว์ประมาณ 12,000 ชนิด
สผ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนเมือง และชุมชนท้องถิ่น ในการจัดทำแผนระดับท้องถิ่นและชุมชนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสอดแทรกประเด็นและการตระหนักเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ผลักดันให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคเอกชน องค์กรทางธุรกิจ ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการต้นทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศในภาคการผลิตและระบบบัญชีประชาชาติ
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการจัดทำกลยุทธ์ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ผ่านการบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศ (Ecosystem Approach) และบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) มาเป็นหลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เชิงระบบหรือองค์รวม (Holistic Approach) เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมดุล และตอบสนองต่อความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงระบบนิเวศและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีดุลยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตตัวอย่างมีคุณภาพและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ส่งผลเสียต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
พร้อมกันนี้ ยังได้สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในระบบการศึกษาของชาติ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและของสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตลอดจนปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ภูมิภาค อนุภูมิภาค ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และระหว่างประเทศในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในทุกระดับ รวมทั้ง พัฒนากลไกในการประสานการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จัดตั้งและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ในการส่งเสริม เผยแพร่ และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและอนุกรมวิธานที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ
จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม