จัดการ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” อย่างยั่งยืนด้วยฐานข้อมูล

นอกเหนือจากการจัดทำทะเบียนสถานภาพของชนิดพันธุ์ต่างๆ ในระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้ศึกษาและติดตามสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศอย่างเป็นระบบแล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังได้จัดทำมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน ควบคุม กำจัด เฝ้าระวัง และติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน และยังไม่รุกรานเข้ามาในประเทศ จัดทำทะเบียนรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย อีกด้วย
การจัดทำฐานข้อมูลด้านนี้ยังได้ครอบคลุมไปถึง การจัดลำดับความสำคัญของชนิดพันธุ์ที่รุกราน เส้นทางการแพร่ระบาด พร้อมแนวทางการควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญลำดับสูง รวมถึงได้ริเริ่มโครงการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลำดับ
ความสำคัญสูงในระดับพื้นที่ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงสร้างความเข้าใจ และความตระหนักในบทบาทของหน่วยงาน และชุมชนในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในระดับพื้นที่
“ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species) หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นที่ถูกนำมาไว้ในพื้นที่ทางช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ไม่ใช่แค่สัตว์เท่านั้น ความหมายยังครอบคลุมไปถึงพืช และจุลชีพหรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีกด้วย
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นส่วนใหญ่ ได้สร้างผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งด้วยการไล่ล่าเป็นอาหาร แย่งแหล่งอาหาร แย่งพื้นที่ขยายพันธุ์ หรือกระทั่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ไปแพร่ให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น จนทำลายนิเวศ และส่งผลให้สูญเสียสมดุลทางธรรมชาติของพื้นที่เดิมตามมา แต่ก็มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจำนวนหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่รุกราน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และ ความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรงหรือสร้างความเสียหายต่อการดำรงชีพของสัตว์หรือพืชท้องถิ่น และสมดุลของระบบนิเวศ
ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในทั้งสองกรณี สผ. ได้นิยามและกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดกลุ่มทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทย ออกเป็น 4 รายการ ประกอบด้วย
1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมไปถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของมนุษย์
2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน หมายถึง 2 กลุ่ม คือ (ก.) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีหลักฐานว่ามีการรุกรานในถิ่นอื่น ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐาน และมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ จากการสำรวจและเฝ้าสังเกตพบว่าอาจแพร่ระบาดหากมีปัจจัยเกื้อหนุนหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (ข.) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีตแต่สามารถควบคุมดูแลได้แล้ว
3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วมีหลักฐานว่ามีการรุกรานในประเทศอื่น
4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีข้อมูลหรือหลักฐานว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศอื่น ได้แก่ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นตามทะเบียน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานรุนแรงของโลก ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าตามกฎหมาย และชนิดพันธุ์ที่มีข้อมูลจากผลการศึกษาวิจัยว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่อื่นๆ ฯลฯ
ปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่มากกว่า 3,500 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำ ที่ถูกนำเข้ามาโดยตรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเกษตร การเพาะเลี้ยง หรือเป็นพืชและสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย ยางพารา สุกร เป็นต้น
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นบางชนิด เป็นเสมือนระเบิดเวลาทำลายระบบนิเวศที่อาจจะสร้างผลกระทบต่อด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจตามมา เช่น ปลาซัคเกอร์ หรือที่เรียกกันว่าปลาเทศบาล ที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศ กินไข่ปลาท้องถิ่น จนบางชนิดเกือบสูญพันธุ์ โดยในปัจจุบันสามารถพบได้ในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปลาชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย รวมถึงแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว
จัดทำและเผยแพร่โดย
กลุ่มงานอำนวยการและประชาสัมพันธ์ / สำนักงานเลขานุการกรม