16 กรกฎาคม 2564 นกแก้วโม่ง สัตว์คุ้มครองใกล้สูญพันธุ์หลังฮือฮาโผล่เมืองนนท์ หรือจะเป็นฝูงสุดท้าย

ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/474592
หลังจากที่เพจนกแก้วโม่ง ฝูงสุดท้าย เผยภาพฝูงนกแก้วโม่งเกาะบนยอดต้นมะพร้าวแถวริมคลองบางกรวยในวัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ปัจจุบันแทบจะไม่เห็นแล้ว เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นกแก้วโม่ง หรือนกแก้วโมง เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีชื่อสามัญตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย เมื่อครั้งยาตราทัพเข้ามาสู่ในทวีปเอเชีย โดยนำนกแก้วชนิดนี้กลับไปยังทวีปยุโรป นกแก้วโม่ง มีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายทั่วไปในแถบทวีปเอเชีย ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถานอินเดีย คาบสมุทรอินโดจีน เช่น เมียนม่าร์ หรือฝั่งตะวันตกของประเทศไทย รวมทั้งยังพบได้ตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน นกแก้วโม่งมีความยาววัดจากหัวถึงปลายหาง 57-58 ซม. ลำตัวมีสีเขียว จะงอยปากมีลักษณะงุ้มใหญ่สีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกแก้วโม่งเพศผู้ และเพศเมียสามารถแยกแยะได้เมื่อนกโตเต็มที่ คือ ในเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า “Ring Neck” ซึ่งในนกเพศเมียไม่มีเส้นที่ปรากฏดังกล่าว
อาหารของนกแก้วโม่งในธรรมชาติประกอบด้วย เมล็ดพืช ผลไม้ ใบไม้อ่อน เป็นนกแก้วที่มีเสียงร้องค่อนข้างดัง และมักเลือกที่จะทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ โดยใช้วิธีแทะหรือขุดโพรงไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อน ในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะสายพันธุ์ย่อย อันเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิ และสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่โดยเฉลี่ยจะเริ่มจากเดือน พ.ย.-เม.ย. ระหว่างฤดูผสมพันธุ์ เพศเมียจะแสดงอาการดุ และก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งนกแก้วโม่งวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง นกแก้วโม่ง เป็นนกแก้วที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพราะเป็นนกแก้วที่มีความสามารถในการเลียนเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงมนุษย์ได้ดี ปัจจุบันนกแก้วโม่งจัดเป็นนกที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง 2 ของอนุสัญญาไซเตส รวมทั้งเป็นนกที่กฎหมายให้ความคุ้มครองในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน