9 กรกฎาคม 2564 แอ่งชิกชูลูบ และชุมชนจุลินทรีย์ที่ฟื้นคืนชีพ

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2135730
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในประเทศออสเตรเลีย รายงานถึงการศึกษาจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในหินที่อยู่ลึกลงไปใต้บริเวณที่พุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่กวาดล้างไดโนเสาร์ไปจากโลกเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเรียกว่าแอ่งอุกกาบาตหรือแอ่งธรณีชิกชูลูบ (Chicxulub) ในประเทศเม็กซิโก นักวิจัยเผยว่า ทดลองใช้การจัดลำดับยีน การนับเซลล์ และระยะฟักตัว เพื่อศึกษาชุมชนจุลินทรีย์ และพบการเสียรูปทางธรณีวิทยาที่เกิดจากผลกระทบเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ยังคงสร้างสิ่งมีชีวิตใต้พื้นที่แอ่งดังกล่าว โดยผลกระทบจากการชนในสมัยโบราณยังคงมีอิทธิพลต่อประเภทของจุลินทรีย์ที่พบในปัจจุบัน นักวิจัยเชื่อว่าประมาณ 1 ล้านปีหลังจากการปะทะชน แอ่งที่เกิดขึ้นจากการชนเย็นตัวลงจนมีอุณหภูมิต่ำพอที่จุลินทรีย์จะฟื้นคืนชีพ และวิวัฒนาการแยกจากสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลกในช่วง 65 ล้านปีที่ผ่านมา ดังนั้น การค้นพบนี้จึงให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีวิตของจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงและการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วจากเหตุการณ์รุนแรง เช่น การชนของดาวเคราะห์น้อย