9 กรกฎาคม 2564 ทำไม แพนด้าพ้นวิกฤตสูญพันธุ์ WWF ย้ำเป็นแบบอย่างของพลังอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

ที่มา:
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000066651
ย้อนหลังกลับไปราว 20 ปี การลักลอบล่าแพนด้าในธรรมชาติของประเทศจีนเพื่อนำขนของพวกมันไปขายในตลาดมืด ส่งผลให้แพนด้าคงเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 1,596 ตัว (ปี พ.ศ. 2542–2546) ต่อมาเกิดความร่วมมือในการปกป้องและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้าระหว่างรัฐบาล-เอกชน-ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นพลังอนุรักษ์ของทุกฝ่ายช่วยปกป้องสัตว์ป่าที่ดูน่ารักสีขาวดำนี้ไว้จากการสูญพันธุ์ และทำให้คนรุ่นต่อไปมั่นใจได้แล้วว่า ยังจะเห็นแพนด้าตัวเป็น ๆ แทนที่จะเป็นภาพประกอบในหนังสือ หรือภาพเคลื่อนไหวจากภาพยนตร์สารคดีในอดีต
ประชากรแพนด้าในช่วงเวลาอีก 10 ปีต่อมา กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 1,864 ตัว ในปี พ.ศ. 2557 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 ในที่สุด สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประกาศให้แพนด้ายักษ์ หรือแพนด้าในธรรมชาติพ้นวิกฤตสูญพันธุ์ และเปลี่ยนให้พวกมันอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์แทน (VU) ในปี พ.ศ. 2559 หลังจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจ ภารกิจฟื้นฟูจำนวนต้นไผ่และแหล่งที่อยู่อาศัยกว่า 1.4 ล้านแฮคตาร์ หรือกว่า 8.7 ล้านไร่ในหลายมณฑลของประเทศจีนช่วยให้แพนด้าในธรรมชาติกว่า 2 ใน 3 มีบ้านและอาหารที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ปริมาณอาหารของแพนด้าในปัจจุบันกำลังถูกคุกคามโดยสภาวะโลกร้อนที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอีกภารกิจที่ทางการจีนและองค์กรอนุรักษ์กำลังเร่งมือจัดการ เพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอาจกวาดต้นไผ่กว่า 1 ใน 3 บนโลกนี้หายไปได้ภายใน 80 ปีข้างหน้า เนื่องจากไผ่ เป็นอาหารของแพนด้ายักษ์กินถึงร้อยละ 99 การเพิ่มจำนวนของแพนด้ายักษ์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้นเป็นผลจากโครงการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ของรัฐบาลจีน และ WWF ที่ร่วมมือกันอย่างจริงจังมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งความพยายามทั้งหมด ได้แก่ การประกาศห้ามล่าแพนด้าโดยเด็ดขาด การออกแผนอนุรักษ์แพนด้ายักษ์แห่งชาติ การหยุดยั้งการขยายตัวของเมือง และขยายเขตอนุรักษ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่ามากที่สุด การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและลงโทษผู้ที่ละเมิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์แพนด้า เริ่มต้นตั้งแต่จำคุก 10 ปี ไปจนถึงประหารชีวิต ภารกิจอนุรักษ์ระดับนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์แหล่งกำเนิดของแพนด้า และความสำคัญของการอนุรักษ์ผืนป่า โดยทั้งนี้ WWF ตั้งเป้าระยะยาวว่า ในอีก 9 ปีข้างหน้า แพนด้ายักษ์จะอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในป่าที่มีระบบการจัดการอย่างดี และช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงผืนป่าได้รับประโยชน์จากการมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น