15 มิถุนายน 2564 สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่ฝังดินในไซบีเรียตื่นขึ้นอีกครั้ง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2115510
สิ่งมีชีวิตโบราณที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอาจเคยเป็นเพียงจินตนาการของนักเขียนนิยาย แต่กลายเป็นเรื่องจริงในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว อย่างกรณีลำต้นของมอสแอนตาร์กติกที่งอกใหม่ได้สำเร็จจากตัวอย่างอายุ 1,000 ปีที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งเป็นเวลานาน 400 ปี หรือพืชดอกหายากซึ่งเกิดใหม่จากเนื้อเยื่อเมล็ดที่ดู เหมือนจะถูกเก็บไว้โดยกระรอกอาร์กติกอายุ 32,000 ปี นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาพุชชิโน (Pushchino Scientific Center for Biological) ในประเทศรัสเซียค้นพบสัตว์โบราณตัวจิ๋วที่ชื่อ เดลลอยด์ โรติเฟอร์ (Bdelloid rotifers) ตื่นจากการหลับใหลมายาวนานนับหมื่นปี หลังจากที่มันฝังอยู่ในเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) หรือชั้นดินเยือกแข็งคงตัวที่นำมาจากแม่น้ำ Alazeya ในเขตยาคูเตีย ของดินแดนไซบีเรียแห่งประเทศรัสเซีย โดยสิ่งมีชีวิตดังกล่าวถูกขุดขึ้นจากใต้ดินลึก 3.5 ม. เมื่อนำไปแยกสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องจุลทรรศน์ออกจากก้อนดินเยือกแข็งและวิเคราะห์อายุพบว่า มีอายุระหว่าง 23,960-24,485 ปี เดลลอยด์ โรติเฟอร์ เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่พบในแหล่งน้ำจืดทั่วโลก เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันสามารถทานทนต่อความหนาวเย็นที่รุนแรงได้ มีการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่ามันอยู่รอดได้เป็นเวลา 10 ปีเมื่อถูกแช่แข็งในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ซึ่งเดลลอยด์ โรติเฟอร์ที่พบในไซบีเรียนั้นจัดว่ามีช่วงเวลาการเอาชีวิตรอดที่ยาวนานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสถานะถูกแช่แข็ง