21 ธันวาคม 2562 เตรียมตัวรับภัยแล้งสาหัส หนักสุดรอบ 40 ปี อากาศแปรปรวนร้อนพุ่ง

ที่มา : https://www.naewna.com/local/461600

นักวิชาการเตือนรับมือ วิกฤติแล้งสาหัส ต่อเนื่องปี’ 63 รุนแรง ใกล้เคียงปี’ 58-59 ฝนตกน้อย น้ำน้อย ภาคเกษตรเสี่ยงเสียหาย จี้ รบ.ออกประกาศงดทำนาปรัง ขณะที่อุณหภูมิร้อนขึ้นต่อเนื่องมากกว่าค่าปกติในรอบ 30-40 ปี

“บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะถกแผนจัดการน้ำ รับปีนี้น้ำแล้ง สั่งขุดบาดาลเพิ่ม 500 บ่อ วอนปชช. ช่วยใช้ประหยัด – งดทำนาปรัง ขณะที่ สทนช.วางแผนสู้ภัยแล้ง เพื่อให้มีน้ำใช้ถึง กรกฎาคม ขณะที่อ่างทองประปาสะดุดไหลอ่อน น้ำต้นทุนลดฮวบ เตือนชาวบ้านสำรองน้ำไว้ใช้

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผยว่า ประชาชนกำลังเผชิญผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งการประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง น้ำบริโภคเริ่มขาดแคลน น้ำเค็มรุกล้ำ กรมชลประทานงดส่งน้ำทำนาปรังในภาคอีสานบน และอีสานกลาง รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายจังหวัด จากการคาดการณ์ภาพรวมปริมาณฝน 6 เดือนข้างหน้า พบว่าภัยแล้งมีแนวโน้มมากขึ้นถึงเดือนพฤษภาคมปี 2563

เตือนแล้งจัดข้าวออกผลผลิตน้อย

ทั้งนี้ ฝนจะเริ่มเต็มเม็ดเต็มหน่วยตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ชาวนาที่ทำนาปรังไปแล้วและกำลังคิดที่จะทำอีกต้องบริหารความเสี่ยงตัวเองด้วย กล่าวคือ จะมีปริมาณน้ำไม่พอถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงฤดูเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ข้าวเสี่ยงขาดน้ำ ขณะที่จะอาศัยฝนก็ไม่มี คาดการณ์ว่าผลผลิตนาปรังปี 2563 จะออกมาน้อยกว่าปกติ ไม่ถึง 8 ล้านตันข้าวเปลือก และปริมาณน้ำอุปโภค-บริโภคในบางพื้นที่จะไม่เพียงพอ ขณะนี้กำลังประเมินร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค

น้ำน้อยเท่าปี58-59จี้ประกาศงดนาปรัง

นายเสรีกล่าวต่อว่า ส่วนกทม.และปริมณฑลมีน้ำกร่อยบ้าง ตามประกาศของการประปานครหลวง สำหรับชาวนาที่คาดหวังกับการทำนาปี ก็ต้องรอจนกลางปีคือ เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป อย่ารีบหว่านกล้าเดือนพฤษภาคมจะเสียหายได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนปัจจุบันมีน้อยมากใกล้เคียงกับปีแล้ง 2558-2559 ที่ผ่านมา แต่ในปี 2558-2559 มีการประกาศให้งดทำนาปรัง จึงผ่านเหตุการณ์มาได้ ขณะที่ปีนี้ต่อจนถึงปีหน้า ไม่มีประกาศใดๆจึงไม่สามารถควบคุมพื้นที่เพาะปลูกได้ การใช้น้ำภาคการเกษตรจึงมีความเสี่ยงสูงกว่า

ร้อนทุบสถิติ40ปีก่อน

“ที่สำคัญอุณหภูมิประเทศไทย มีแต่สูงขึ้น สูงขึ้นจากค่าปกติเมื่อ 30-40 ปีก่อน จากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแต่เฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 3-9 ธันวาคม ที่อุณหภูมิรายวันต่ำกว่าปกติ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เสถียร จากความกดอากาศสูง”นายเสรีกล่าว

สั่งขุดบาดาล500บ่อ-ชะลอนาปรัง

สอดคล้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562 ว่า ปีนี้เป็นปีที่น้ำแล้งมากกว่าปกติ ต้องเตรียมนำน้ำใต้ดินและน้ำบนดินมาใช้ให้เพียงพออุปโภคและบริโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ในส่วนน้ำใต้ดินได้เจาะน้ำบาดาลเพิ่มประมาณ 500 บ่อทั่วประเทศในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ขณะที่การทำนาปรังขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งทำนาปรัง เพราะเราไม่มีน้ำแล้วจะทำนาปรังได้อย่างไร และขอให้ปลูกพืชน้ำน้อยดีกว่า แต่ต้องดูว่ากรมชลประทานมีน้ำเพาะปลูกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจเกษตรกรไปแล้ว

สทนช.ชี้ปีนี้น้ำแล้ง-วางแผนใช้ให้ถึงกค.

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำเสียในอีก 20 ปีข้างหน้าใน 446 พื้นที่ที่เป็นการบำบัดให้แหล่งน้ำชุมชน 780 แห่ง นอกจากนี้ ยังตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานดูแผนใช้งบประมาณและการบริหารจัดการน้ำ 40 จังหวัด นอกจากนี้ ยังหารือการป้องกันภัยแล้ง ซึ่งปีนี้บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนดไว้เกือบ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จะปรับลดเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะใน 2-3 เดือนข้างหน้าอาจกระทบการใช้น้ำ ซึ่งพล.อ.ประวิตรสั่งให้กองทัพบกโดยกรมการทหารช่างและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล รวมถึง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจสถานพยาบาลในการใช้น้ำ โดยในส่วนการประปาส่วนภูมิภาคไม่มีปัญหา แต่อาจจะมีสถานพยาบาลขนาดเล็กจะมีปัญหา จึงต้องวางแผนแก้ไขให้เรียบร้อย ขณะที่ด้านการเกษตรนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงรุนแรง 3.7 แสนไร่จะมอบให้กรมทรัพยากรน้ำและกระทรวงเกษตรฯไปบูรณาการช่วยเหลือ ยอมรับว่าปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและคาดการณ์ฝนน้อย จึงต้องวางแผนใช้น้ำให้ได้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม .

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy