21 ธันวาคม 2562 แม่น้ำโขง : การดูดทรายกำลังทำลายแม่น้ำสายหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-50870354
แม่น้ำโขงกำลังเผชิญวิกฤต ตลิ่งกำลังพังทลายและประชาชนราว 5 แสนคน กำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านเรือน
ระบบนิเวศทั้งระบบของแม่น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สายนี้กำลังถูกคุกคาม เพราะปริมาณความต้องการทรายมหาศาลของโลก
ทรายถูกดูดขึ้นมาจากท้องแม่น้ำโขงในกัมพูชาและเวียดนาม ทรายเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีความต้องการมากที่สุดในโลกอย่างหนึ่ง แต่ละปีมีทรายถูกดูดขึ้นมาจากทั่วโลกราว 5 หมื่นล้านตัน ถือเป็นอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ศ.สตีเฟน ดาร์บี นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศแม่น้ำ มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน กล่าวว่า “การดูดทรายเกิดขึ้นในอัตราที่มากอย่างมหาศาล เรากำลังเปลี่ยนแปลงโลกในระดับอุตสาหกรรม”
การศึกษาเกี่ยวกับแม่น้ำโขงตอนล่างของเขาพบว่า ท้องแม่น้ำโขงต่ำลงกว่าเดิมหลายเมตรในช่วงเวลาเพียง 2-3 ปี ตลอดแนวยาวหลายร้อยกิโลเมตร เพราะการดูดทราย
ทรายถูกใช้ตั้งแต่การสร้างถนนไปจนถึงโรงพยาบาล ทรายเป็นองค์ประกอบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมเช่น เครื่องสำอางค์ ปุ๋ย และการผลิตเหล็ก โดยเฉพาะในการผลิตซีเมนต์
สหประชาชาติระบุว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณความต้องการทรายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งสร้างเมืองใหม่หลายแห่ง
ระหว่างปี 2011-2013 จีนใช้ทรายมากกว่าที่สหรัฐฯ ใช้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 20 เพราะจีนมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่งในพื้นที่ชนบท
ทรายยังถูกใช้ในการถมทะเลเพื่อขยายผืนดินด้วย ปัจจุบันสิงคโปร์มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับในช่วงที่เป็นเอกราชในปี 1965
“แต่ละปีเราดูดทรายขึ้นมามากพอที่จะใช้สร้างกำแพงสูง 27 เมตร หนา 27 เมตร ล้อมโลกใบนี้ได้” ปาสคาล เปดุซซี จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme)
ไม่ใช่ทรายทุกชนิดจะใช้ในการก่อสร้างได้ ทรายในทะเลทรายละเอียดเกินไปในการใช้สร้างคอนกรีต และไม่ใช่ประเภทที่จะนำมาใช้ผลิตแก้วหรือใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าด้วย
ดังนั้น จึงต้องมีการหาทรายจากแหล่งอื่น ๆ ทั้งจากกระบวนการสกัดแบบสถิต (Static extraction) และผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การสกัดแบบไดนามิก (dynamic extraction) จากทะเลและแม่น้ำสายต่าง ๆ อย่างแม่น้ำโขง
นายเปดุซซี กล่าว่า การสกัดแบบไดนามิกอาจสร้างผลเสียหายได้อย่างมาก “ทรายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและมีบทบาทสำคัญ ซึ่งถ้าไม่มีทรายก็จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การกัดเซาะ และความเค็มที่เพิ่มขึ้น”
WWF ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านการอนุรักษ์ และคณะกรรมการแม่น้ำโขง ระบุว่า บริเวณก้นของช่องแคบหลัก 2 แห่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ยุบตัวลง 1.4 เมตร ในช่วงเวลา 10 ปี จนถึงปี 2008 และหากนับตั้งแต่ปี 1990 ได้ทรุดตัวลงไประหว่าง 2-3 เมตร
การวิจัยในวารสารเนเจอร์ (Nature) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนพ.ย.2562 ระบุว่า การทำเหมืองทรายเป็นแนวยาว 20 กิโลเมตรของแม่น้ำโขง “ไม่มีความยั่งยืน” เพราะตะกอนธรรมชาติที่มาจากตอนบนของแม่น้ำสะสมได้เร็วไม่เพียงพอกับที่ทรายถูกดูดไป
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การคุกคามต่อมนุษย์เท่านั้น แม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งและ เป็นแหล่งอาหารของประชาชน 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับน้ำ WWF คาดว่า ปลา 800 สายพันธุ์และโลมาอิรวดีที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ฝูงใหญ่ที่สุดในโลกฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงไม่ใช่แม่น้ำสายเดียวที่มีปัญหาเรื่องการถูกดูดทรายขึ้นไปใช้ ในเคนยาและอินเดียก็มีปัญหาเช่นกัน มีการปะทะกันรุนแรงเพื่อแย่งชิงทราย