31 พฤษภาคม 2564 เร่งผู้ส่งออกปรับตัว อียูออกกฎคุมเข้มพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เริ่มบังคับใช้ ๓ กรกฎาคมนี้

ที่มา: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2750397
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศมาตรการทางการค้า เรื่องการสั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single–Use Plastics Products : SUPs) ในอียู ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓ ก.ค. ๖๔ เป็นต้นไป โดยมาตรการนี้จะมีผลกับสินค้า ๒ กลุ่ม คือ (๑) มาตรการห้ามวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในท้องตลาดอย่างเด็ดขาด จะบังคับใช้กับก้านสำลี (คอตตอนบัด) ช้อน ส้อม มีด จาน ไม้คนกาแฟ ก้านลูกโป่ง บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพอลิสไตรีน และถุงพลาสติกออกโซ (Oxo) และ (๒) มาตรการให้มีสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อของสินค้า เพื่อแสดงข้อมูลปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมและวิธีการกำจัด โดยจะบังคับใช้กับผ้าอนามัย ทิชชู่เปียก บุหรี่ที่มีก้นกรอง และแก้วเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งอียูได้ให้เหตุผลของการออกมาตรการว่า พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นต้นเหตุของปัญหาขยะในทะเล และเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ
นางอรมนกล่าวว่า ภายในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า อียูเตรียมกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุมเข้มการใช้พลาสติก เช่น กำหนดให้ขวดเครื่องดื่มพลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (PET) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จะต้องมีสัดส่วนของพลาสติกที่รีไซเคิลแล้วอย่างน้อยร้อยละ ๒๕ ในปี ๖๘ และจะเพิ่มเป็นร้อยละ ๓๐ ในปี ๗๓ กำหนดให้ขวดน้ำที่จะวางขายในท้องตลาดได้ จะต้องออกแบบให้มีฝาติดกับตัวขวดเท่านั้นภายในปี ๖๗ รวมถึงกำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกชนิดนี้ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ และจัดการขยะพลาสติก และการสร้างความรู้ให้แก่ผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งแม้มาตรการเหล่านี้จะบังคับใช้กับประเทศสมาชิกอียู แต่จะมีผลต่อสินค้าจากทุกประเทศ รวมทั้งสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยไปอียูด้วย มาตรการดังกล่าว ชี้ให้เห็นแนวโน้มความสำคัญของการค้ากับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกไปอียูจะต้องให้ความสำคัญและเร่งปรับตัว เพื่อที่จะสามารถรักษาตลาดในอียู หรือใช้โอกาสสร้างตลาดใหม่ หากสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าให้ตอบสนองมาตรการใหม่ของอียูได้ ทั้งนี้ ในปี ๖๓ อียู (๒๗ ประเทศ ไม่นับสหราชอาณาจักร) เป็นคู่ค้าอันดับ ๕ ของประเทศไทย มูลค่าการค้ารวม ๓๓,๑๓๔ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยส่งออกไปอียูมูลค่า ๑๗,๖๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา สินค้าสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของประเทศไทยไปอียู มูลค่า ๔๑๗.๗ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา สินค้าสำคัญ เช่น โพลิอะซีทัล ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหาร เม็ดพลาสติก และสารตั้งต้นของพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น