5 เมษายน 2564 ค้นพบซากจิงโจ้โบราณปีนต้นไม้ได้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2063323

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก และมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบซากกระดูกของจิงโจ้โบราณขนาดใหญ่ ๒ ตัว น้ำหนัก ๖๐ กก. เป็นเพศผู้และเพศเมีย ที่ถ้ำไทลาโคลีโอ ตั้งอยู่ในที่ราบนัลลาร์บอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย การตรวจสอบกระดูกซากจิงโจ้ดังกล่าวพบว่า พวกมันเป็นของสายพันธุ์ที่ไม่รู้จักมาก่อน แต่ระบุได้ว่า เป็นจิงโจ้ชนิดที่ปีนป่ายอยู่บนต้นไม้ได้ พวกมันอาศัยอยู่บนต้นไม้นอกจากจะอยู่บนพื้นดิน ทำให้นักวิจัยตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า Congruus kitcheneri ซึ่งลักษณะทางกายวิภาคของมันก็ไม่เหมือนพันธุ์ Wallabia kitcheneri ที่รู้จักกันดี Congruus kitcheneri ที่พบใหม่นี้มีนิ้วมือ และนิ้วเท้าที่ยาวผิดปกติ ทั้งยังมีกรงเล็บยาว และโค้งงอเมื่อเทียบกับจิงโจ้ชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีกล้ามเนื้อแขนที่เต็มไปด้วยพละกำลังสำหรับช่วยยก และยึดตัวเองบนต้นไม้ มีคอที่ยาวกว่า และเคลื่อนที่ได้มากกว่าจิงโจ้ตัวอื่น สามารถยื่นศีรษะไปในทิศทางต่างๆ เพื่อปีนไต่บนต้นไม้

การค้นพบนี้ไม่ธรรมดา เพราะหากพิจารณาว่าที่ราบนัลลาร์บอร์สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นเป็นที่ราบสูงหินปูนอันกว้างใหญ่เชื่อมระหว่างออสเตรเลียตะวันตกและออสเตรเลียใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า ไม่มีต้นไม้มานานหลายล้านปี การพบกระดูกจิงโจ้ต้นไม้บนที่ราบแห่งนี้จึงท้าทายความเชื่อที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีต้นไม้ ซึ่งจะให้ข้อมูลใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศออสเตรเลียตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy