31 มีนาคม 2564 การศึกษาหมึกยักษ์ชี้วิวัฒนาการของการนอนหลับของปลาหมึก

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2060288
หมึกยักษ์ หรือหมึกสาย (Octopus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว นอกจากจะมีหนวด ๘ เส้น มีหัวใจ ๓ ดวง เลือดเป็นสีน้ำเงิน พ่นหมึกได้ มีความสามารถในการพรางตัว ทว่ายังมีความจริงที่น่าเศร้าคือ หมึกชนิดนี้จะตายไปหลังจากผสมพันธุ์ก่อนหน้านี้รู้กันดีว่าปลาหมึกเปลี่ยนสีในขณะที่นอนหลับ และมีสมองที่ซับซ้อนที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทุกชนิด แต่การศึกษาใหม่ของนักวิจัยจากสถาบันสมองของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐริโอ กรันดี โด นอร์เต ประเทศบราซิล เมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า หมึกยักษ์อาจมีช่วงของการนอนหลับที่แตกต่างกันอย่างน้อย ๒ ช่วง นักวิจัยสังเกตหมึกยักษ์พันธุ์ Octopus insularis ในห้องปฏิบัติการ พบการเปลี่ยนแปลงสีของมันมี ๒ ช่วงคือ ช่วงที่นอนหลับสนิท และนอนหลับไม่สนิท ระหว่างที่นอนหลับสนิทหมึกยักษ์จะมีผิวซีด และรูม่านตาหดตัวจนเป็นรอย แต่ในช่วงนอนหลับไม่สนิท หมึกยักษ์จะเปลี่ยนสีผิว และพื้นผิวอย่างมีชีวิตชีวา แถมยังขยับตาทั้ง ๒ ข้าง ในขณะที่ร่างกายดูดเกร็งตัวพร้อมกับกล้ามเนื้อกระตุก วงจรที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ระหว่างนอนหลับสนิทโดยทั่วไปแล้วกินเวลาราว ๗ นาที ส่วนภาวะนอนหลับไม่สนิทที่ตามมามักไม่ถึง ๑ นาที ผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้ว่า ปลาหมึกมีระบบประสาทที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนพอๆ กัน และการค้นพบนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการนอนหลับซึ่งเป็นหน้าที่ทางชีววิทยาที่สำคัญ