14 มีนาคม 2564 “เมฆแมมมาทัส” ธรรมชาติสุดแปรปรวน แต่งดงามนัก! เหนือท้องฟ้ากรุงเบอร์ลิน

ที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000024543

ผู้อยู่อาศัยในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนี ต่างพากันตื่นตา ตกใจกับภาพที่ปรากฎอยู่เหนือท้องฟ้า “เมฆมัมมาทัส” (Mammatus Cloud) ที่มีลักษณะสุดแปลกคล้ายกับก้อนสำลีจำนวนมาก (บ้างก็ว่าเหมือนเต้านม) ราวกับว่าตกลงไปอยู่ในโลกการ์ตูน

ภาพก้อนเมฆที่ส่องแสงยามเย็นแขวนอยู่บนท้องฟ้าอย่างหนาแน่น ทำให้ทิวทัศน์ของเมืองเบอร์ลินดูเหมือนเมืองในโลกการ์ตูน จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่งดงามครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากพายุฝนฟ้าคะนองช่วงสั้นๆ เมื่อยามเย็นของวันพฤหัสบดี (11 มี.ค.2021) ซึ่งเกิดฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ทันใดนั้นท้องฟ้าก็สว่างขึ้นพร้อมกับการก่อตัวของกลุ่มเมฆมัมาทัส ที่ดูผิดปกติแต่งดงามเหมือนภาพวาด

ปรากฎการณ์เมฆแมมมาทัสลักษณะรูปทรงคล้ายกับกระเป๋าที่เรียงเป็นรูปแบบเซลล์แขวนอยู่ใต้ฐานของเมฆแม่ โดยทั่วไปจะแขวนอยู่กับเมฆฝนคิวมูโลนิมบัส สำหรับชื่อ mammatus มาจากภาษาละติน mamma ตาม WMO International Cloud Atlas ระบุไว้ว่า mamma เป็นคุณลักษณะเสริมของเมฆไม่ได้เป็นประเภทหรือรูปแบบอื่นๆ

รู้หรือไม่ว่า ยิ่งพวกมันสวยงามเท่าไหร่ สภาพอากาศยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่แมมมาทัสก่อตัว มันจะมาพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนองเสมอ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นจากฐานเมฆคิวมูโลนิมบัสขนาดใหญ่ (เมฆพายุฝน) ซึ่งลักษณะที่คล้ายก้อนสำลีนี้เกิดจากมวลอากาศที่ไม่เสถียร ทำให้เมฆคิวมูโลนิมบัสเคลื่อนตัวต่ำลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อปะทะกับอากาศพื้นดินที่อยู่ใต้เมฆ เกิดกระแสลมต้านย้อนกลับ ทำให้ฐานของมันมีลักษณะนวลๆ อย่างที่ปรากฎให้เห็น

สาเหตุที่มันอันตราย เพราะพวกมันเปรียบเสมือนผู้ส่งสารที่บอกว่าพายุลูกใหญ่กำลังจะมา ซึ่งภายในก้อนแมมมาทัสแต่ละลูกประกอบด้วยน้ำแข็ง ของเหลว และลมต้านที่รุนแรง ส่งผลต่อการนำเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด เพราะด้วยความแรงลมภายในแมมมาทัสที่มหาศาลจะทำให้เครื่องบินสูญเสียการควบคุมได้ โดยแต่ละลูกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 กิโลเมตร กระจุกรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่กระจายตัวหลายสิบกิโลเมตร อาจอยู่ได้นาน 1-4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมฆแมมมาทัสนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณอันตรายเสมอไป เหมือนในเหตุการณ์ครั้งนี้ ณ กรุงเบอร์ลิน เพราะมันยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังพายุฝนฟ้าคะนองผ่านไปแล้ว เนื่องจากเมื่อพายุพัดผ่านไปแต่ตะกอนของไอน้ำจะยังคงอยู่ ทำให้อากาศโดยรอบเกิดการอิ่มตัวและจับตัวกันเป็นก้อน มีน้ำหนักมากขึ้น จนทิ้งตัวต่ำลง และเมื่อปะทะกับอากาศบนพื้นดิน ทำให้เกิดกระแสลมต้านย้อนกลับ แล้วเกิดเป็นเมฆแมมมาทัสได้เหมือนกัน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy