9 มีนาคม 2564 เผยโฉมหน้าใหม่บรรพบุรุษมนุษย์ “ลูซี่ – เด็กเมืองตาอุง” ชี้ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์มากที่สุด

ที่มา:
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6093439
นักกายวิภาคศาสตร์ร่วมกับประติมากรจากประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริการ่วมกันค้นคว้า และประกอบสร้างหุ่นจำลองใบหน้าของบรรพบุรุษมนุษย์ที่เรารู้จักกันดีขึ้นใหม่ ซึ่งได้แก่ “ลูซี่” (Lucy) และ “เด็กเมืองตาอุง” (Taung Child) อายุราว ๓ ขวบ ผู้มีชีวิตอยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อ ๓.๒ – ๒.๘ ล้านปีก่อน เหตุที่ทีมผู้เชี่ยวชาญข้างต้นต้องสร้างหุ่นจำลองใบหน้าของทั้งสองขึ้นใหม่ เนื่องจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนายไรอัน แคมป์เบลล์ นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแอดิเลดของประเทศออสเตรเลีย ผู้นำทีมศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาพวาดหรือหุ่นจำลองบรรพบุรษมนุษย์ ๘๖๐ ตัว ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ๕๕ แห่งทั่วโลก มีหน้าตาที่แตกต่างกันออกไปอย่างมาก ไม่เป็นแบบแผนเดียวกัน แม้จะเป็นหุ่นจำลองบรรพบุรษมนุษย์สายพันธุ์เดียวกันก็ตาม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะศิลปินผู้สร้างสรรค์ใบหน้าของบรรพบุรษมนุษย์ในอดีต ใช้การเดา และแนวโน้มความชอบทางศิลปะของแต่ละคนเข้ามาประกอบสร้างลักษณะทางกายภาพของผลงานด้วยส่วนใหญ่ แทนที่จะใช้ข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ทำให้บ่อยครั้งเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน และมีอคติทางเชื้อชาติเข้ามาแฝงอยู่ในรูปร่างหน้าตาของหุ่นจำลองเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เนื่องจากการสร้างใบหน้าที่สมบูรณ์ขึ้นมาใหม่จากเศษชิ้นส่วนฟอสซิลที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือจากกะโหลกศีรษะที่หลายส่วนเว้าแหว่งสูญหาย ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของเนื้อเยื่ออ่อน และมัดกล้ามเนื้อบนใบหน้ามีไม่เพียงพอ
รายงานเพื่อทบทวน และวิพากษ์การวิจัยในอดีต ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Ecology and Evolution ระบุว่า ที่ผ่านมาสีผิวของลูซี่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษมนุษย์สายพันธุ์ Australopithecus afarensis ถูกทำให้เหมือนกับของลิงโบโนโบมากเกินไป รูปหน้าของเด็กเมืองตาอุง (Taung) หรือที่ออกเสียงแบบภาษาอังกฤษว่าเมือง “ทอง” ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ Australopithecus africanus ก็ถูกทำให้เหมือนกับคนท้องถิ่นยุคปัจจุบันในแถบนั้น ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแต่อย่างใด ทีมผู้เชี่ยวชาญสร้างใบหน้าของบรรพบุรษมนุษย์ทั้งสองใหม่ ด้วยวิธีการที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เริ่มจากขึ้นรูปโครงหน้า และกะโหลกศีรษะของหุ่นจำลองด้วยวิธีดั้งเดิม โดยใช้การหล่อจากแบบที่ได้มาจากฟอสซิลของจริงโดยตรง ทำให้ผลงานใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าเก่า ในกรณีของลูซี่ที่ฟอสซิลกะโหลกศีรษะได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น ทีมผู้เชี่ยวชาญใช้การคำนวณเพื่อสร้างรูปหน้า และศีรษะใหม่ โดยยึดแนวขากรรไกรล่างที่คงเหลืออยู่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นหลัก ส่วนความหนาของชั้นผิวหนัง และกล้ามเนื้อในตำแหน่งต่างๆ ใช้สมการที่คิดค้นเพื่อคำนวณหารายละเอียดของลักษณะดังกล่าวในบรรพบุรุษมนุษย์โดยเฉพาะ นายไรอัน แคมป์เบล ผู้นำทีมประกอบสร้างใบหน้าบรรพบุรุษมนุษย์ในครั้งนี้กล่าวว่า “วิธีการของเราให้ผลลัพธ์ที่ดูดีกว่าการอิงอาศัยแต่จินตนาการทางศิลปะอย่างมาก แต่สมการสร้างใบหน้านี้ก็มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้างในบางครั้ง และดูจะเหมาะกับการสร้างใบหน้าบรรพบุรุษสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคใหม่มากกว่า”