4 กุมภาพันธ์ 2564 อ. บางคล้าริมแม่น้ำบางปะกงเกิดปรากฏการเรืองแสง

ที่มา:
https://siamrath.co.th/n/217234
ที่ท่าเทียบเรือหน้าวัดแจ้ง บริเวณตลาดน้ำบางคล้า อ. บางคล้า จ. ฉะเชิงเทรา ประชาชนต่อคิวเพื่อซื้อตั๋วในราคาผู้ใหญ่ ๖๐ บาท เด็ก ๓๐ บาท เด็กเล็กไม่คิดเงิน โดยเรือเที่ยวแรกจะออกล่องไปตามแม่น้ำในเวลา ๑๙.๓๐ น.และทุกคนต้องคัดกรองตามมาตรการป้องกันการเฝ้าระวังโควิค-19 ก่อนขึ้นเรือนำเที่ยวสองชั้น ชื่อเรือ “แพพี่เก้า” ที่เปิดบริการนักท่องเที่ยวล่องไปตามรอบเกาะลัดบางคล้าซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งใน จ. ฉะเชิงเทรา จะใช้เวลาประมาณ ๑ ชม. ในการล่องเรือชมทัศนียภาพของแม่น้ำยามค่ำคืน แต่เมื่อในช่วง ๒ – ๓ วันที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาของประชาชนทั้งใน จ. ฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียงต่างตื่นตาตื่นใจ เมื่อได้ทราบข่าวถึงปรากฏการณ์แม่น้ำบางปะกงเรืองแสงได้ เกิดจากแพลงล์ตอนชนิดหนึ่งเรืองแสงที่ลอยมากับน้ำเค็มที่หนุนสูงเข้ามาในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่พบบ่อยครั้ง จึงเดินทางเพื่อมาชมให้เห็นกับตาตัวเองกับความสวยงามที่เกิดขึ้น
นางสาว วรยา จ้อยเจริญ เป็นเจ้าของเรือชื่อ “แพพี่เก้า”ร่วมกับครอบครัวกล่าวว่า แพลงก์ตอนมากับน้ำทะเล เพราะปีนี้แม่น้ำบางปะกงมีน้ำเค็มไหลเข้ามาเกือบถึง จ. ปราจีนบุรี แต่ความเค็มจัดอยู่ที่ อ. บางคล้า เมื่อขึ้นไปถึง ต. หัวไทร ต. บางกระเจ็ด อ. บางคล้า เกือบถึง จ. ปราจีนบุรีจะมีน้ำจืดปน จะไม่สามารถเห็นแพลงก์ตอนเรืองแสงได้เท่ากับช่วง อ. บางคล้า ส่วนใหญ่จะเห็นการเรืองแสงในช่วงเดือนมืดสนิท จะชัดเจนมากในช่วงดึก และจะเห็นได้ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็จะไม่มีแพลงก์ตอน เพราะว่าจะมีน้ำจืดเข้ามาทดแทนน้ำเค็มก็จะไม่พบเจอแพลงก์ตอนเรืองแสงอีก ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนเรืองแสง หรือ ปรากฏการณ์ Bioluminescence เป็นแพลงก์ตอนพืช หรือไฟโทแพลงก์ตอน คือ แพลงก์ตอนที่สามารถสังเคราะห์แสง และสร้างอาหารเองได้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตปฐมภูมิของห่วงโซ่และสายใยอาหาร พบได้ทั้งในระบบนิเวศน้ำจืด ระบบนิเวศน้ำเค็ม และระบบนิเวศน้ำกร่อย แพลงก์ตอนพืชส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่าย โดยแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดเรืองแสงจะเป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต เมื่อแพลงก์ตอนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนใต้น้ำ และอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเมื่อถูกรบกวน หรือมีวัตถุกระทบกับแพลงก์ตอน ทำให้ผนังเซลล์เกิดการเรืองแสงเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินได้
อย่างไรก็ตาม แพลงก์ตอนเรืองแสงสวยงามที่เรามองเห็นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา อาจเป็นอันตรายต่อปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะแพลงก์ตอน หรือสาหร่ายเซลล์เดียวจะปิดกั้นไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องลงไปยังแหล่งน้ำได้ ทำให้พืชที่อยู่ใต้น้ำตาย เนื่องจากไม่สามารถรับแสงอาทิตย์ เพื่อสังเคราะห์แสง และสร้างอาหารได้ ทำให้สัตว์อื่นที่กินพืชตายตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีแหล่งอาหาร ในขณะเดียวกันเมื่อสาหร่ายตายต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย ทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในน้ำลดลง และค่าแอมโนเนียในน้ำสูง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำซึ่งต้องอาศัยออกซิเจนในการดำรงชีวิตอีกด้วย