27 มกราคม 2564 บรรพบุรุษปลาดาว อาจไขปริศนาแขนทั้งห้า

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2020428
เมื่อกว่า ๑๗ ปีก่อน ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในทะเลทรายประเทศโมร็อกโก ซึ่งเอกลักษณ์ และประวัติการวิวัฒนาการของมันเป็นความลึกลับมานาน แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยลียง ศึกษาจนสามารถอธิบายถึงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้แล้ว สิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีชื่อว่า Cantabrigiaster fezouataensis รูปร่างคล้ายปลาดาว มีอายุเก่าแก่ ๔๘๐ ล้านปี แต่ถึงจะดูคล้ายปลาดาว ทว่าก็ขาดคุณสมบัติที่เด่นชัดอื่นๆ ที่เห็นได้จากสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายปลาดาว อย่างปลาดาว ๒ ชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ปลาดาวทั่วไป และดาวเปราะ หรือดาวตะกร้า แต่นักวิจัยสรุปว่า Cantabrigiaster fezouataensis คือ บรรพบุรุษของปลาดาวทั้ง ๒ ชนิด เคยอาศัยอยู่ในมหาทวีปโบราณกอนด์วานาอันเป็นดินแดนขนาดใหญ่ที่มีบางส่วนเป็นของทวีปแอนตาร์กติกาในปัจจุบัน บรรพบุรุษปลาดาวเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในต้นยุคออร์โดวิเชียน (ordovician) เมื่อประมาณ ๔๘๕.๔ – ๔๖๐ ล้านปีก่อน และยังไม่แน่ชัดว่า Cantabrigiaster fezouataensis กินอะไรเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์ในช่วงปลายยุคแคมเบรียน (Cambrian) เมื่อ ๔๙๗ – ๔๘๕.๔ ล้านปีก่อน เพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างอีไคโนเดอร์ม (echinoderms) ไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ดาวทะเล ดาวเปราะ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมปลาดาวจึงพัฒนาแขนทั้ง ๕ ของพวกมันขึ้นมานั่นเอง