20 มกราคม 2564 ไขปริศนาต้นกำเนิดสัตว์จากเนื้อเยื่ออ่อนในฟอสซิล

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/society/2015697
ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องยากที่จะติดตามการเชื่อมโยงของสัตว์รุ่นก่อนๆ เพราะเนื้อเยื่ออ่อนของพวกมันซึ่งเป็นส่วนที่ให้เบาะแสสำคัญเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของสัตว์มักจะสลายลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่ความมืดมนเหล่านั้นได้ถูกปัดเป่าโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสกอตแลนด์ ที่ทำงานภาคสนามในประเทศนามิเบีย ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของสัตว์ตัวจิ๋วชื่อ Namacalathus มีลักษณะคล้ายกับหมอนปักเข็มที่มีกิ่งก้านสั้นๆ ติดอยู่ซาก Namacalathus ถูกธรรมชาติอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของสัตว์ยุคแรกๆ ที่เคยทำให้ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาในศตวรรษที่ ๑๙ งงงันมาแล้ว การศึกษาของทีมจากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระค้นพบความเชื่อมโยงเป็นครั้งแรกระหว่างสัตว์ที่วิวัฒนาการในช่วงที่เรียกว่า แคมเบรียน เอ็กโพลชั่น (Cambrian explosion) คือ ปรากฏการณ์ทางชีวภาพที่จู่ๆ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอุบัติขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันโดยเกิดขึ้นเมื่อ ๕๔๐ ล้านปีก่อน เนื้อเยื่ออ่อนบางส่วนของสัตว์ชนิดนี้ถูกเก็บรักษาไว้ภายในซากฟอสซิลด้วยแร่โลหะที่เรียกว่าไพไรต์ (pyrite) จากการวิเคราะห์เนื้อเยื่ออ่อนพร้อมเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อในสัตว์ที่วิวัฒนาการในภายหลัง ทีมพบว่า Namacalathus เป็นบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตในยุคแรกที่ปรากฏในช่วงแคมเบรียน เอ็กโพลชั่น ท่ามกลางสัตว์อื่นๆ อย่างหนอน และหอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซากฟอสซิลนี้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ทางชีววิทยาของสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดบางชนิด ช่วยให้ติดตามที่มาของรากเหง้าของแคมเบรียน เอ็กโพลชั่น และต้นกำเนิดของกลุ่มสัตว์สมัยใหม่