19 มกราคม 2564 เมื่อไดโนเสาร์หายตัวไป ป่าก็เจริญเติบโต

ที่มา:
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2015061
รู้กันดีว่ามีทฤษฎีเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับสาเหตุหลักในการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อประมาณ ๖๖ ล้านปีก่อน คือ ผลกระทบจากอุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่กลไกที่เชื่อมโยงผลกับผลกระทบจากอุกกาบาต และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากรวมถึงไดโนเสาร์ ก็ยังคงไม่ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีส่วนร่วมกับหายนะครั้งนั้น แต่ถึงแม้จะยังไม่รู้สาเหตุที่แน่นอนของการสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ดึกดำบรรพ์ นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่า การสูญพันธุ์จำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ดูจะได้คำตอบมาแล้วจากการวิเคราะห์ซากพืชของช่วงเวลานั้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซากพืชดังกล่าวพบในตะกอนของแม่น้ำทางตอนใต้ของรัฐซัสแคตเชวันในประเทศแคนาดา ซึ่งชี้ว่าในพื้นที่แห่งนี้ ชุมชนพืชและระบบนิเวศในท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวไปสู่พืชน้ำน้อยลง และมีการเพิ่มขึ้นของพืชบกรวมถึงต้นไม้ ได้แก่ ต้นเบิร์ชและต้นเอล์ม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของพืชพรรณป่าไม้เกิดจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่กินพืช นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบโดยไม่คาดคิดว่า การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบปริมาณน้ำฝนในช่วงเหตุการณ์การสูญพันธุ์ในอดีตค่อนข้างน้อย และมีอายุสั้น สิ่งนี้อาจมีความสำคัญต่อการมองภาวะโลกร้อนในอนาคต นักวิทยาศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนอาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศอย่างมาก