15 ธันวาคม 2563 เช้านี้ค่าฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ กทม. และปริมณฑลสูงเพิ่มขึ้นในระดับสีแดงเพิ่มเป็น ๑๔ พื้นที่ เนื่องจากเกิดความกดอากาศต่ำในรูปแบบฝาชีครอบและสภาพอากาศนิ่ง

ที่มา:
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG201215104214462
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกล่าวถึงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (๑๕ ธ.ค. ๖๓) ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ๕๗ พื้นที่มีค่าฝุ่นละอองในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๔ พื้นที่ บริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม ๘ เขตหนองแขม ต. ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ ริมถนนสามเสน เขตพระนคร ริมถนนพระรามที่ ๔ หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ และริมถนนพระราม ๕ เขตดุสิต พบมีค่าสูงสุดบริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง อยูู่ที่ ๑๑๙ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพบค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๑๐ ไมครอน (PM10) เกินมาตรฐาน ๒๒ พื้นที่ พบค่าสูงสุดบริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง อยู่ที่ ๑๗๙ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และกรมควบคุมมลพิษติดตามสถานการณ์ สาเหตุเกิดจากการจราจรหนาแน่น ประกอบกับปัจจัยเกิดความกดอากาศต่ำในรูปแบบฝาชีครอบ สภาพอากาศนิ่ง อบอ้าว ขมุกขมัว และลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัว และสะสมในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น เบื้องต้นควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจนถึงวันที่ ๑๗ ธ.ค. นี้ แล้วประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากมีความเร็วลมสูงขึ้น และอากาศยกตัวจะช่วยให้ฝุ่นลดลง ซึ่งอันดับแรกต้องควบคุมรถยนต์ที่ปล่อยควันดำบนท้องถนนก่อน พร้อมประสานกระทรวงศึกษาธิการแจ้งโรงเรียนต่างๆ งดทำกิจกรรมในที่โล่งช่วงวิกฤติฝุ่นละออง เพื่อลดการสูดดมฝุ่นโดยตรง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเข้มงวด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสุขภาพของประชาชน เนื่องจากประชาชนหลายคนประมาทไม่ป้องกัน เพราะมองว่าไม่ได้รับผลกระทบเฉียบพลันจึงมองข้ามการป้องกันตนเอง ทำให้เกิดการสะสมต่อสุขภาพระยะยาว ทั้งนี้ ขอประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท หลีกเลี่ยงพื้นที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น และหากมีอาการทางสุขภาพรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์