7 ธันวาคม 2563 จ. พะเยา ฐานที่มั่นสุดท้ายนกยูงไทยในล้านนาตะวันออก

ที่มา:

https://www.dailynews.co.th//article/811241

ทุกๆ ปีในช่วงระหว่างเดือน พ.ย. – ก.พ. เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นาข้าวบริเวณที่ติดกับชายป่าใน จ. พะเยา จะมีนกยูงไทยพาเหรดออกจากป่า เพื่อเต้นระบำอวดโฉมขนหางแววมยุรา และตัวผู้จะแสดงท่วงท่าร่ายรำเกี้ยวพาราสีอันแสนสวยงาม แถมมากินเมล็ดข้าวอวบอ้วนเป็นประจำทุกปี ในศาสนาฮินดูนกยูงเป็นหนึ่งในสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของทวีปเอเชียมาหลายพันปี และนกยูงไทยเป็นตัวแทนของความสูงส่งในดินแดนสุวรรณภูมิมาช้านาน ขนนกยูงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือพระพุทธรูป และเทวรูปองค์สำคัญของชาติ เช่น พระแก้วมรกต พระสยามเทวาธิราช ตลอดจนมีความเชื่อทางศาสนาพุทธว่า นกยูงจะสร้างความเจริญ และแคล้วคลาดปลอดภัยแต่ผู้บูชา ทำให้ประชากรนกยูงไทยใน จ. พะเยา เหลือดำรงเผ่าพันธุ์จวบจนปัจจุบัน นกยูงไทยใน จ. พะเยากระจายตัวอยู่ในป่าธรรมชาติหลายแห่ง และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยพะเยา โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เข้าสำรวจพื้นที่อนุรักษ์ ๑๐ แห่งพบว่า จ. พะเยามีประชากรนกยูงไทยประมาณ ๖,๖๔๔ ตัว โดยมีพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ ๓ แห่ง ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับพญาลอ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ และอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง จ. เชียงราย พะเยา และแพร่ พบว่าอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง มีนกยูงไทยอาศัยอยู่มากที่สุดกว่า ๒,๖๐๐ ตัว หรือ ๕.๔ ตัวต่อตารางกิโลเมตร หรือมากกว่า ๑ ใน ๓ ของประชากรนกยูงไทยทั้ง จ. พะเยา แต่ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ทำให้ป่าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกยูงไทยตลอดทั้งปีลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เช่น แผ้วถางทำพื้นที่เกษตรกรรม การตัดถนน การเปลี่ยนแปลงผังเมือง ไฟป่า เผาป่าล่าสัตว์ มีการล่านกยูงไทยเป็นอาหารทั้งไข่และเนื้อ ล่าเอาขนแววมยุรามาทำเครื่องประดับ เก็บไข่ไปฟักเป็นสัตว์เลี้ยง นกยูงไทยได้รับพิษจากสารเคมีทางการเกษตร หรือหมาจรจัดออกจากบ้านคนไปล่านกยูงในป่า ทำให้ครอบครัวนกยูงไทยธรรมชาติที่อยู่อย่างมีความสุขมาช้านาน ถูกผลักดันให้มาอยู่ใกล้พื้นที่อาศัยของมนุษย์มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และถูกล่าจนลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย จึงเป็นที่มาให้ จ. พะเยา โดยมหาวิทยาลัยพะเยาเข้าไปช่วยเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากนกยูงไทยเข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตร จัดตั้งเป็นข่วงนกยูง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมความสวยงาม และน่ารักของนกยูงไทย หนึ่งในสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก หรือ Endangered species อีกทั้งยังได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว เข้าไปช่วยพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ขายได้ราคาดี อีกทั้งในอนาคตก็มีโครงการจะช่วยพื้นฟูสภาพป่าให้กลับฟื้นคืนมา เพื่อเพิ่มบ้านให้นกยูงไทยอีกด้วย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณรับได้กับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ยอมรับ อ่านเพิ่มเติม

Privacy & Cookies Policy